แนวทางการบริหารจัดการด้านการผลิตอันเป็นเลิศ
GRI 3-3

บริษัทฯ กำหนดกลยุทธ์เพื่อส่งมอบพลังงานที่มีเสถียรภาพผ่านระบบการผลิตอันเป็นเลิศ ภายใต้กลยุทธ์ "4S Strategy" เพื่อบูรณาการระบบการบริหารจัดการภายในกลุ่มจีพีเอสซี โดยที่มุ่งเน้นการสร้างความแข็งแกร่ง ด้านการดำเนินการผลิตของโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน ให้สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสีย ตามกลยุทธ์ S1 "Strengthen and Expand the Core" พร้อมขยายการให้บริการในธุรกิจหลัก เพื่อแสวงหาโอกาสเติบโตด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และนวัตกรรมเทคโนโลยีพลังงานอัจฉริยะ เพื่อก่อเกิดประโยชน์สูงสุดและรองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานของผู้บริโภคในอนาคต โดยเน้นกลยุทธ์ 4 ด้าน ได้แก่

To drive "Operational Excellence" across all assets of GPSC

ความปลอดภัย
(Safety)

มุ่งเน้นการสร้างวัฒนธรรมทางด้านความปลอดภัยให้เกิดขึ้นภายในองค์กร

ความมีเสถียรภาพ
(Reliability)

มุ่งเน้นการเสริมสร้างความมั่นคงของกระบวนการผลิตและส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีเสถียรภาพแก่ลูกค้า

ความสามารถในการทำกำไร
(Profitability)

มุ่งเน้นการเสริมสร้างความสามารถในการทำกำไรและแสวงหาการสร้างมูลค่าส่วนเพิ่ม

ความยั่งยืน
(Sustainability)

มุ่งเน้นการพัฒนาความพร้อมของบุคคลากรด้วยทักษะที่เกี่ยวข้องและวัฒนธรรมองค์กรซึ่งมุ่งสู่ความสำเร็จ

การส่งมอบกระแสไฟฟ้าได้ตามความต้องการของลูกค้าและประสิทธิภาพการผลิตถือเป็นหัวใจหลักของการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ดังนั้น บริษัทฯ จึงกำหนดกลยุทธ์ในการบริหารจัดการโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ในทุกๆ ขั้นตอนของโครงการ รวมถึงการบริหารจัดการในช่วงการผลิต เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการบริหารจัดการโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่นำมาซึ่งการผลิตไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพและมีความมั่นคงสูงสุด

Power Generation for Efficiency and Reliable System

การก่อสร้างโรงไฟฟ้า
  • ทีมงานและที่ปรึกษามีความเชี่ยวชาญ
  • อุปกรณ์เทคโนโลยีชั้นนำทันสมัย
  • คัดเลือกผู้รับเหมาผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างที่รัดกุม
บริหารจัดการดำเนินงานโรงไฟฟ้า
  • ดูแลความมั่นคงของผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้า
  • วางแผนบำรุงรักษาเครื่องจักรอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดโอกาสในการหยุดซ่อมแซม
  • เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานผ่านการจัดการนวัตกรรม
ริเริ่มโครงการโรงไฟฟ้าใหม่
  • กำหนดมาตรการในการคัดเลือกโครงการลงทุน/ ผู้ร่วมลงทุน
  • วิเคราะห์ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป (Sensitivity Analysis)
  • เตรียมมาตรการป้องกันความเสี่ยงไว้ล่วงหน้า
  • เพิ่มประสิทธิภาพผ่านนวัตกรรมในการดำเนินงาน

ภาพรวมการผลิตไฟฟ้าของบริษัทฯ ในปี 2565

การผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานไม่หมุนเวียน
ประเภทของเชื้อเพลิง ปริมาณไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตได้ ปี 2564 (กิกะวัตต์ชั่วโมง) สัดส่วนของการผลิต (ร้อยละ) ปริมาณไฟฟ้าทั้งหมดที่ขาย (กิกะวัตต์ชั่วโมง) รายได้ (บาท)
ถ่านหิน 5,907.48 26.38 5,461.83 15,088,655,595.41
ก๊าซธรรมชาติ 13,519.43 60.38 21,999.27 60,718,101,115.44
รวม 19,426.91 86.77 18,461.10 75,806,756,710.85

ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานไม่หมุนเวียนที่ซื้อจากภายนอกองค์กรเพื่อจำหน่าย มีปริมาณ 54.24 กิกะวัตต์ชั่วโมง

การผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน
ประเภทของเชื้อเพลิง ปริมาณไฟฟ้าทั้งหมดที่ผลิตได้ ปี 2564 (กิกะวัตต์ชั่วโมง) สัดส่วนของการผลิต (ร้อยละ) ปริมาณไฟฟ้าทั้งหมดที่ขาย (กิกะวัตต์ชั่วโมง) รายได้ (บาท)
น้ำ 1,917.75 8.57 1,899.06 14,745,143,584.65
แสงอาทิตย์ 1,003.81 4.48 996.62 4,031,925,850.71
อื่นๆ (ขยะ) 41.77 0.19 33.34 445,960,023.15
รวม 2,963.33 13.23 2,929.03 19,223,029,458.51

ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ซื้อจากภายนอกองค์กรเพื่อจำหน่าย มีปริมาณ 0 กิกะวัตต์ชั่วโมง

ปริมาณไฟฟ้าทั้งหมดที่ขาย

จากการผลิตไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ ปริมาณไฟฟ้าทั้งหมดที่ขายในปี 2565 รวมเป็น 22,444.48 กิกะวัตต์ชั่วโมง และค่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ (Carbon Intensity) เป็น 440 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อกิกะวัตต์ชั่วโมง

ระบบปฏิบัติการสู่ความเป็นเลิศเป็นมาตรฐานการปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับการดำเนินงานภายในกลุ่ม ปตท. โดยมีรากฐานมาจากการบริหารจัดการความเสี่ยง ความปลอดภัย อาชีวอนามัย สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนที่ออกแบบมาเพื่อสร้างพื้นฐานของการทำงานและยกระดับการปฏิบัติการของบริษัทฯ สู่มาตรฐานชั้นนำระดับโลก โดยมุ่งเน้นให้เป็นระบบการจัดการที่บูรณาการระบบการบริหารการผลิต มาตรฐาน และองค์ความรู้ต่างๆ โดยมีองค์ประกอบและแนวคิด ดังนี้

องค์ความรู้และต้นทุนทางปัญญา

ที่ได้รับการสะสมมาจากบริษัทในกลุ่ม ปตท. ไม่ว่าจะเป็นแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practices) และนวัตกรรมต่างๆ ผนวกกับการบริหารจัดการความรู้และแลกเปลี่ยนภายในองค์กร เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในระดับสากล

การสร้างวัฒนธรรมและขีดความสามารถ

จากการดำเนินงาน OEMS อย่างเป็นระบบ สร้างความยืดหยุ่น ลดความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในอนาคตได้

มาตรฐานระบบปฏิบัติการสู่ความเป็นเลิศ 12 ประการ

ด้วยระบบ Continuous Performance Improvement (CPI) ซึ่งเป็นศูนย์รวมเครื่องมือและแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในองค์กรอย่างต่อเนื่องแก่ผู้ปฏิบัติงานทุกคน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้

ระบบปฏิบัติการสู่ความเป็นเลิศเป็นการบูรณาการร่วมกันทั้ง 4 ด้าน ตั้งแต่ Content Deployment Conformance และ Performance เพื่อให้เกิดการดำเนินการในระบบปฏิบัติการอย่างเป็นระบบ

Operational Excellence Management System (OEMS) Manual

System for GPSC Integrates and complies with standards

ระบบปฏิบัติการสู่ความเป็นเลิศยังออกแบบมาเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานภายในองค์กรสามารถทำงานและสื่อสารระหว่างหน่วยงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถแลกเปลี่ยนความรู้ มีแนวปฏิบัติภายใต้มาตรฐานเดียวกัน ซึ่งจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมได้ดียิ่งขึ้น

ระบบปฏิบัติการสู่ความเป็นเลิศเป็นระบบที่ใช้เป็นมาตรฐานการดำเนินงานของบริษัทในกลุ่ม ปตท. โดยได้กำหนดมาตรฐานระบบปฏิบัติการออกเป็น 12 ประการ ภายใต้แนวคิด “PEOPLE” โดยมีองค์ประกอบ ดังนี้

มาตรฐานระบบปฏิบัติการสู่ความเป็นเลิศ 12 ประการ

Impact Level Description of Impacts
1. SSHE บริษัทในกลุ่ม ปตท. จะต้องบรรลุเป้าหมายการดำเนินงานตามมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม (SSHE) ของกลุ่มในทุกมิติการดำเนินงาน
2. Operations Risk Management บริษัทในกลุ่ม ปตท. จะต้องระบุและบริหารจัดการความเสี่ยงจากการปฏิบัติงานเพื่อลดผลกระทบให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้ (As Low As Reasonably Practicable หรือ ALARP)
3. Organization & Capabilities: บริษัทในกลุ่ม ปตท. จะต้องมีโครงสร้างการบริหารจัดการที่ออกแบบมาเพื่อให้สามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถเพิ่มขีดความสามารถการดำเนินงานได้อย่างเป็นระบบ จัดสรรองค์ความรู้ และแนวปฏิบัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
4. Sustainability Management บริษัทในกลุ่ม ปตท. จะต้องปฏิบัติงานด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมชุมชนและสังคม ตอบสนองต่อผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อสร้างการดำเนินธุรกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืน
5. Reliability & Asset Integrity บริษัทในกลุ่ม ปตท. จะต้องตรวจสอบอุปกรณ์ เครื่องจักร และระบบสาธารณูโภค อย่างเป็นระบบภายใต้แผนงานและมาตรฐานที่ได้จัดตั้งไว้ เพื่อสร้างความมั่นคง ปลอดภัย ลดต้นทุนในการดำเนินงานทุกขั้นตอนการดำเนินงาน
6. Operations บริษัทในกลุ่ม ปตท. จะต้องปฏิบัติงานภายใต้ความปลอดภัยเพื่อป้องกันการบาดเจ็บและสูญเสียต่อผู้ปฏิบัติงานและสิ่งแวดล้อม
7. Value Chain Management (Downstream) บริษัทในกลุ่ม ปตท. จะต้องบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานในการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าและผู้บริโภค ภายใต้การบริหารจัดการธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ
8. Management of Contractors & Suppliers บริษัทในกลุ่ม ปตท.จะต้องบริหารจัดการคู่ค้าและผู้รับเหมาให้ปฏิบัติตามข้อกำหนด นโยบาย และมาตรฐานของกลุ่มที่ได้จัดตั้งไว้
9. Strategy & Leadership บริษัทในกลุ่ม ปตท.จะต้องปฏิบัติงานภายใต้ความปลอดภัย มั่นคง ยั่งยืน ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ผ่านกลยุทธ์ภายในกลุ่มเพื่อเป็นผู้นำในกลุ่มอุตสาหกรรม
10. Performance Management บริษัทในกลุ่ม ปตท.จะต้องรักษาการเป็นผู้นำในการปฏิบัติงาน ผ่านการประเมิน เปรียบเทียบ และจัดลำดับผลการดำเนินงานด้านการปฏิบัติงาน การป้องกันการสูญเสีย และการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
11. Capital Project Management บริษัทในกลุ่ม ปตท. จะต้องบริหารจัดการโครงการผ่านกระบวนการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพเพื่อส่งมอบคุณภาพ ความปลอดภัย ตอบสนองต่อความต้องการ ภายใต้ระยะเวลาและงบประมาณที่กำหนดไว้
12. Management of Change บริษัทในกลุ่ม ปตท. จะต้องบริหารจัดการความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทั้งแบบชั่วคราวและถาวร การบริหารจัดการองค์กร หรือการปฏิบัติงาน อย่างเป็นระบบและควบคุมให้อยู่ในระดับต่ำที่ยอมรับได้ (As Low As Reasonably Practicable หรือ ALARP)
GRI 3-3

บริษัทฯ มีแผนการพัฒนาเพื่อยกระดับองค์กรให้ก้าวสู่ความเป็นเลิศ ด้วยการจัดการอย่างเป็นระบบ เริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์จุดแข็งและโอกาสในการพัฒนาปรับปรุงระบบความปลอดภัยและการบริหารความเสี่ยงในกระบวนการผลิต การบริหารเสถียรภาพและสมรรถนะของเครื่องจักร (Reliability & Integrity) รวมถึงการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ เสริมสร้างสมรรถนะของบุคลากรให้มีศักยภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ชัดเจนเพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่ง พัฒนากระบวนการดำเนินงานและการสื่อสาร อันนำไปสู่มาตรฐานการปฏิบัติการเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและเพิ่มประสิทธิผลในการดำเนินการผลิตให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายสู่การเป็นผู้นำในการดำเนินงานที่เป็นเลิศในกลุ่มบริษัทผลิตไฟฟ้า โดยมีพันธกิจเพื่อให้บรรลุผล ด้วยการดำเนินการปฏิบัติการอย่างเป็นระบบทั่วทั้งองค์กร เกิดการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการนำองค์ความรู้ต่อยอดสู่การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ เพื่อบรรลุผลการดำเนินงานด้านการบริหารทรัพยากรที่คุ้มค่า ด้วยความปลอดภัย เชื่อถือได้ตามปณิธานความยั่งยืนในการดำนินการธุรกิจ

นอกจากการดำเนินการตามแผนงานในปัจจุบันแล้ว บริษัทฯ ยังวางแผนพัฒนาต่อยอดระบบปฏิบัติการสู่ความเป็นเลิศเพื่อตอบสนองต่อความคาดหวังในด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ต่อผู้มีส่วนได้เสีย 8 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) กลุ่มผู้ถือหุ้น 2) กลุ่มนักลงทุน 3) กลุ่มหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4) กลุ่มพนักงาน 5) กลุ่มคู่ค้าและผู้รับเหมา 6) กลุ่มหุ้นส่วนทางธุรกิจ 7) กลุ่มลูกค้า และ 8) กลุ่มชุมชนและสังคม เพื่อรักษาและส่งเสริมวิสัยทัศน์พร้อมทั้งบรรลุเป้าหมาย “การเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าชั้นนำด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนในระดับสากล” โดยมีแนวทางการดำเนินงานเพื่อสอดคล้องกับเป้าหมายการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ดังนี้

บริษัทฯ ได้พัฒนาระบบการบริหารจัดการภายในเพื่อตรวจสอบการดำเนินงานทั้งสภาวะปกติและกรณีวิกฤติ ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลในการปฏิบัติงานด้านกระบวนการผลิตโดยจะแสดงข้อมูลให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถประเมินและวิเคราะห์การดำเนินงานได้ทุกขั้นตอน รวมทั้งสามารถแก้ไขปรับปรุงรูปแบบการเดินเครื่องจักรเพื่อรองรับกับเหตุการณ์ต่างๆ ในกรณีวิกฤติ ระบบจะแจ้งเตือนโดยทันที เพื่อรักษาความปลอดภัยของบุคลากรและอุปกรณ์ในขณะปฏิบัติงาน รวมถึงควบคุมสถานการณ์เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดปกติ และลดผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสียจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ระบบนี้สามารถประยุกต์ใช้ผ่านระบบมาตรฐานและโปรแกรมต่างๆ พร้อมกับมีการตรวจสอบและบันทึกข้อมูลการปฏิบัติงานที่ปกติและผิดปกติจากการปฏิบัติงาน (Tracking Record) และนำส่งให้ผู้รับผิดชอบรับทราบทุกวัน โดยจะรายงานผลการปฏิบัติงานดังกล่าวผ่านคณะกรรมการจัดการของบริษัทฯ เป็นประจำ

บริษัทฯ ตรวจติดตามสถานะ วิเคราะห์ และคาดการณ์ประสิทธิภาพของระบบการผลิตและจำหน่ายตลอดช่วงเวลาการให้บริการ (Real Time) แก่ลูกค้าทุกรายผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถตรวจติดตาม วางแผน และปรับปรุงรูปแบบการเดินเครื่องจักรของระบบการผลิตได้ล่วงหน้า ซึ่งสามารถเพิ่มเสถียรภาพและความมั่นคงในการผลิตและส่งมอบพลังงานรวมถึงลดความเสี่ยงและโอกาสในการสูญเสีย โดยผนวกการใช้ซอฟต์แวร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Central SCADA (Power Distribution), Customer Monitoring System (Steam Distribution), Plant Information (PI) และ Real-Time Optimization เป็นต้น

Monitoring

การติดตามประสิทธิภาพของระบบการผลิตผ่านโปรแกรม Plant Information (PI) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ติดตามสถานะและแสดงผลการดำเนินการผลิตทั้งที่ศูนย์ผลิตและลูกค้าทุกรายตลอด 24 ชั่วโมง

Data Validation and Modeling

การตรวจสอบข้อมูลกำลังการผลิตจริงและปริมาณความต้องการของลูกค้าเพื่อนำมาใช้วางแผนการผลิตได้อย่างแม่นยำ และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อคาดการณ์ประสิทธิภาพการผลิตและปริมาณความต้องการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึงแนวทางการปรับปรุงระบบเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในกรณีต่างๆ

O&M Report Solution

การรายงานผลการตรวจติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลไปยังวิศวกรและพนักงานควบคุมเพื่อปรับปรุงการปฏิบัติงานให้มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพสูงสุด

Process Optimization

การปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานให้เหมาะสมต่อความต้องการใช้พลังงานและสภาพแวดล้อมเพื่อให้มีเสถียรภาพและประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรสูงสุด

บริษัทฯ ไม่หยุดนิ่งในการขยายกำลังการผลิตผ่านการลงทุนภายในประเทศ รวมถึงขยายการลงทุนไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเป้าหมายการลงทุน อาทิ ไต้หวัน เวียดนาม และอินเดีย อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์องค์กรในการเติบโตไปพร้อมกับบริษัทในกลุ่ม ปตท. และเป็นแกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายในการลงทุนรวมถึงปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตพลังงาน ในการเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานจากพลังงานหมุนเวียนให้สอดคล้องกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคตและรองรับความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน

บริษัทฯ กำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนเข้ารับการอบรม ฝึกซ้อม และผ่านการทดสอบการปฏิบัติงาน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับมอบหมายสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ โดยบริษัทฯ กำหนดหลักสูตรพื้นฐานที่ผู้ปฏิบัติงานจะต้องได้รับการอบรม รวมถึงสนับสนุนการศึกษาดูงาน เข้ารับอบรมกับหน่วยงานภายนอกทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อเพิ่มพูนความรู้และศึกษาแนวปฏิบัติที่เป็นปัจจุบันในระดับสากล รวมถึงร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ หลักสูตรการอบรมพนักงานของบริษัทฯ ยังได้รับการออกแบบจากผู้เชี่ยวชาญให้สอดคล้องกับมาตรฐานของการปฏิบัติงานในกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าที่จำเป็นต่อการปฏิบัติงานของผู้เข้ารับการอบรม โดยครอบคลุมการอบรมเนื้อหาทางทฤษฎีและการปฏิบัติโดยผู้เชี่ยวชาญ และยังเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานของพนักงานในการพิจารณาการเติบโตตามสายอาชีพสำหรับพนักงานสายปฏิบัติการผลิต โดยมีหลักสูตรอบรมเพื่อเพิ่มศักยภาพในการปฏิบัติงาน ดังต่อไปนี้

Power Plant Operations

การสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการปฏิบัติงานในโรงไฟฟ้า ระเบียบการปฏิบัติงานและมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ระบบควบคุมมลพิษที่สำคัญ รวมถึงการเดินสำรวจความผิดปกติในโรงไฟฟ้า

Plant Information System

การสร้างความรู้ความเข้าใจด้านการบริหารจัดการข้อมูลของระบบผลิตและจำหน่าย รวมถึงระบบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยผลิต การเข้าถึงและการบริหารจัดการข้อมูลโรงไฟฟ้าเพื่อสร้างขีดความสามารถในการบริหารจัดการของผู้ปฏิบัติงาน

Power and Steam Network & Optimization

การสร้างความรู้ความเข้าใจด้านโครงข่ายของศูนย์ผลิตไฟฟ้าและไอน้ำของบริษัทฯเพื่อสร้างความรู้และทักษะการบริหารจัดการด้านการผลิต จำหน่าย และการบริหารจัดการความต้องการทางพลังงาน รวมถึงกรณีศึกษาที่เกี่ยวข้อง

ปรับปรุง ณ เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2566

เนื้อหาข้างต้นจัดทำตามมาตรฐานการรายงานความยั่งยืน โดย The Global Reporting Initiative (GRI Standards) ได้รับการตรวจสอบความถูกต้องโดยหน่วยงานภายนอกและให้ความเชื่อมั่นข้อมูลการรายงานในระดับจำกัด (Limited Assurance)