กลยุทธ์การดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม

GRI 2-23, 2-24, 3-3

บริษัทฯ มีการดำเนินงานภายใต้นโยบายการบริหารจัดการความยั่งยืนและนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยดำเนินการผ่านโครงการพัฒนาสังคมและชุมชนในรูปแบบต่างๆ ที่สอดคล้องกับกลยุทธ์และทิศทางในการดำเนินธุรกิจขององค์กร รวมทั้งมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีส่วนได้เสียรอบพื้นที่การดำเนินงานของบริษัทฯ เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน

นโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
GPSC CSR Strategy (2022 - 2026)
คู่มือการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนสัมพันธ์

แนวทางการบริหารจัดการเพื่อการอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน

GRI 3-3, 413-1
กรอบกลยุทธ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคม

บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะเชื่อว่าการที่ธุรกิจจะพัฒนาอย่างยั่งยืนได้นั้น ชุมชนและสังคมจะต้องเติบโตไปพร้อมกัน ดังนั้น บริษัทฯ จัดทำกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชนในทุกพื้นที่การดำเนินงาน (ร้อยละ 100) เพื่อรับฟังข้อกังวลและความสนใจและนำมาพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานในพื้นที่และอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน โดยบริษัทฯ มีกรอบกลยุทธ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมที่สอดคล้องกับแนวทางที่เป็นมาตรฐานสากล เช่น Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยผนวกความเชี่ยวชาญทางธุรกิจของบริษัทฯ เข้าไปในกระบวนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาสำคัญของชุมชนและสังคมอย่างเป็นรูปธรรม

กลยุทธ์ในการสร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อสังคมของบริษัทฯ ตั้งอยู่บนหลักการสำคัญ 3 ประการ คือ

  • เป็นกิจกรรมที่เชื่อมโยงกับภารกิจองค์กรและเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ
  • เป็นการใช้ความเชี่ยวชาญ ทักษะและสมรรถนะหลักขององค์กร เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และต่อยอดไปสู่การพัฒนาชุมชน
  • คำนึงถึงความต้องการและความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีส่วนได้เสียรอบพื้นที่การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ

บริษัทฯ มีการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ภายใต้นโยบายการบริหารจัดการความยั่งยืนและนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการพัฒนาชุมชนและสังคมที่เชื่อมโยงกับภารกิจหลักขององค์กร ใช้ความเชี่ยวชาญและทักษะที่เป็นสมรรถนะหลักของพนักงานในองค์กร และคำนึงถึงความต้องการและความคาดหวังของชุมชนเป็นหลัก โดยบริษัทฯ มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีส่วนได้เสียรอบพื้นที่การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ

สำหรับกิจกรรม CSR ที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญนั้นแบ่งออกเป็น 4 ด้านหลักๆ คือ การเข้าถึงพลังงาน คุณภาพชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และนวัตกรรมที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของกลุ่มปตท. และแนวทางที่เป็นมาตรฐานสากล เช่น Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) และ UN Sustainable Development Goals (SDG) โดยเราได้มีการตั้งเป้าหมายและตัวชี้วัดต่างๆ ให้ครอบคลุมทั้ง 4 ด้านเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนกับชุมชนและสังคม

ในปี 2022 บริษัทฯ ได้ดำเนินโครงการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมตามแผนการดำเนินงานซึ่งสามารถสรุปเป็นตัวชี้วัดที่มีนัยสำคัญได้ดังนี้

  1. 1. ด้านเศรษฐกิจ
    ตัวชี้วัดที่สำคัญของด้านเศรษฐกิจส่วนใหญ่มาจากโครงการที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนในระยะยาว ประมาณการรายได้ดังนี้
    1. 1.1 รายได้จากการขายผ้ายอมครามด้วยเทคโนโลยีไคโตซานจากโครงการ GPSC Young Social Innovator = 204,480 บาท/ปี
    2. 1.2 รายได้จากการขายผักและกาแฟ จากโครงการ Smart Farming = 1,602,761 บาท/ปี
    3. 1.3 รายได้ของศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะบ้านไผ่จากการจำหน่ายสินค้าและบริการ = 420,655 บาท
    4. 1.4 ปริมาณขยะที่รับซื้อชุมชน = 2,010 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน 1,105.5 บาท/ปี
  2. 2. ด้านสังคม
    นอกเหนือจากจำนวนผู้รับผลประโยชน์ในโครงการแล้ว ตัวชี้วัดทางด้านสังคมอีกตัวหนึ่งที่องค์กรให้ความสำคัญได้แก่ การประเมินผลตอบแทนทางสังคม (SROI) โดยเฉพาะในโครงการที่ใช้งบประมาณค่อนข้างสูง เพื่อประเมินความคุ้มค่าทั้งก่อนและหลังการดำเนินโครงการ
    1. 2.1 จำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ GPSC Young Social Innovator season 5 = 447 ทีม
    2. 2.2 จำนวนผู้มีส่วนได้เสียในโครงการ Smart Farming = 50 คน
    3. 2.3 ค่า SROI จากโครงการ CSR: ปี 2565 มีการประเมินค่า SROI จำนวน 13 โครงการ โดยมีค่าอยู่ในช่วง 1.35 – 4.53
  3. 3. ด้านสิ่งแวดล้อม
    ตัวชี้วัดสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันคงหนีไม่พ้นปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมเป้าหมายขององค์กรในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net Zero แม้จะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ก็ตาม โดยกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมที่สามารถช่วยลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ในปี 2565 นั้นมีด้วยกัน 4 โครงการหลักๆ คือ
    1. 3.1. ปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกจากโครงการ LBL = 152.17 tons Co2eq/year
    2. 3.2. ปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกจากโครงการหญ้าทะเล = 66 tons Co2eq/year
    3. 3.3. ปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกจากโครงการปลูกป่า = 524 tons CO2eq/year
    4. 3.4. ปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกจากการรับซื้อขยะของโรงคัดแยกขยะและโรงไฟฟ้า RDF และศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะบ้านไผ่ = 11.5 tons Co2eq/year
  4. 4. ด้านธุรกิจ
    นอกจากตัวชี้วัดใน 3 ด้านที่กล่าวมาแล้ว บริษัทฯ ยังมีตัวชี้วัดอื่นๆ ที่เชื่อมโยงกับภาพลักษณ์และการดำเนินงานด้านความยั่งยืนขององค์กรอีกด้วย ซึ่งตัวชี้วัดดังกล่าว ได้แก่
    1. 4.1. ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากขยะ RDF = 19,398 MWh (ม.ค.-ส.ค. 2565)
    2. 4.2. จำนวนกำลังการผลิตติดตั้งระบบโซลาร์ในโครงการ LBL = 87.54 kW
    3. 4.3. จำนวนพนักงานจิตอาสาและจำนวนชั่วโมงที่เข้าร่วมกิจกรรม CSR = 345 คน/1,850 ชั่วโมง
    4. 4.4. มูลค่าการประชาสัมพันธ์ (PR Value) = 29,688,900 บาท (งบประมาณดำเนินการ 1,923,274.50 บาท)* ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2565

ด้านการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชน

GRI 413-1, 413-2

บริษัทฯ มีส่วนสนับสนุนและเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณประโยชน์และกิจกรรมด้านประเพณี วัฒนธรรม และศาสนาที่จัดโดยชุมชนอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมกับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงเป็นประจำ เพื่อชี้แจงสร้างความเข้าใจต่อการดำเนินงานของบริษัทฯ และสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนในรูปแบบต่างๆ ภายใต้โครงการเคียงบ่าเคียงไหล่ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมคณะกรรมการไตรภาคี การประชุมคณะกรรมการตรวจติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA Monitoring) การพบปะเยี่ยมเยือนชุมชน กิจกรรมเปิดบ้าน (Open House) การรับฟังความคิดเห็น (Public Hearing) เป็นต้น ซึ่งความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากกระบวนการมีส่วนร่วมเหล่านี้เป็นข้อมูลสำคัญที่บริษัทฯ นำมาพัฒนา เป็นกลยุทธ์การดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมที่สอดคล้องกับความคาดหวังของชุมชนและสังคม เพื่อให้มีทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจนและยั่งยืน ตลอดจนมีการติดตามผลลัพธ์และผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าเป็นไปตามกลยุทธ์ที่กำหนด

*รายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชน

กิจกรรม CSR ที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญและกำหนดเป็นกรอบกลยุทธ์แบ่งออกเป็น 4 ด้าน คือ

  • การเข้าถึงพลังงาน
  • คุณภาพชีวิต
  • ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  • นวัตกรรมที่ยั่งยืน

การเข้าถึงพลังงาน

บริษัทฯ มีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด โดยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าได้อย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งสามารถดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยบริษัทฯ ในฐานะแกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. มีความมุ่งมั่นที่จะนำทักษะ ความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญในการพัฒนาระบบไฟฟ้า มาใช้เพื่อส่งมอบพลังงานสะอาดให้กับชุมชน สอดรับกับทิศทางพลังงานโลกและแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ของไทยที่มุ่งไปสู่พลังงานสะอาด และเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065

SDG 7: AFFORDABLE AND CLEAN ENERGY
GRI 413-2

โครงการ Light for a Better Life (LBL) เป็นโครงการดูแลช่วยเหลือสังคมชุมชนโดยใช้ความเชี่ยวชาญและทักษะเฉพาะของบริษัทฯ และพนักงานในกลุ่มบริษัทฯ เพื่อดูแลระบบไฟฟ้าให้กับชุมชน สังคม สะท้อนการเป็นบริษัทแกนนำนวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. โดยใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของพนักงาน (Expertise) เพื่อดูแลผู้คนในชุมชน สังคม และประเทศชาติ (People of the Planet) ใน 4 ด้านหลัก ๆ คือ ความปลอดภัย (Safety) ความประหยัด (Saving) ความมั่นคงทางพลังงาน (Security) และ เศรษฐกิจ-สังคม (Socio-Economic)

Safety

ปรับปรุง ซ่อมแซมระบบไฟฟ้าให้กับสาธารณสถาน อาทิ โรงเรียน วัด สถานพยาบาลท้องถิ่น เพื่อลดความเสี่ยงต่อชีวิตและทรัพย์สินจากการเกิดเพลิงไหม้ ไฟฟ้าดูด ไฟฟ้าช็อต รวมถึงการซ่อมแซมและฟื้นฟูระบบไฟฟ้าให้กับหน่วยงานราชการท้องถิ่นกรณีประสบภัยพิบัติ

Saving

ปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าเพื่อประหยัดพลังงาน รวมถึงการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อลดค่าใช้จ่ายและสามารถนำเงินที่ประหยัดได้ไปพัฒนาหรือทำกิจกรรมอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยงาน

Security

ติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานทางเลือกในถิ่นทุรกันดาร เพื่อให้คนในชุมชนและสังคมมีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดอุปสรรคในการใช้ชีวิต รวมถึงเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า เช่น การติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ให้แก่ โรงพยาบาล สถานบริการด้านสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกล และสถานศึกษา เป็นต้น

Socio-economic

สร้างและส่งเสริมอาชีพ "หมอไฟฟ้า" ให้กับคนในชุมชน โดยการฝึกอบรมคนในชุมชนให้มีทักษะอาชีพสามารถเป็นช่างไฟฟ้าพื้นฐาน ดูแลครัวเรือนชุมชนของตนเองและก่อให้เกิดรายได้เสริม หรืออาจพัฒนาเป็นรายได้หลักให้กับตนเองต่อไป

โครงการ LBL ถือว่าเป็นโครงการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมที่มีความสำคัญในเชิงกลยุทธ์ เนื่องจากสอดคล้องกับธุรกิจและความเชี่ยวชาญขององค์กร รวมทั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) และทิศทางด้านพลังงานของโลก ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการปรับปรุงระบบไฟฟ้า ติดตั้งและส่งมอบระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และระบบกักเก็บพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ห่างไกลและชุมชนที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง เพื่อสร้างความมั่นคงและความเท่าเทียมทางด้านพลังงาน ให้กับประชาชน โดยกิจกรรมสำคัญในโครงการ LBL ที่บริษัทฯ ได้ดำเนินการในปี 2565 มีดังนี้

ซึ่งทำให้ปริมาณการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของส่วนกิจการเพื่อสังคม ณ ปี 2565 เท่ากับ 328.53 kWp จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1,000 kWp ภายในปี 2568 ทั้งนี้ โครงการ LBL ทั้งหมดในปี 2565 สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 152,175 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

ผลลัพธ์ทางธุรกิจของโครงการ LBL

  • มีพนักงานเข้าร่วมโครงการ 10 คน
  • จำนวนชั่วโมงเข้าร่วมโครงการของจิตอาสา 414 ชั่วโมง
  • กำลังการผลิตติดตั้ง 87.54 kWh
  • ไม่มีการร้องเรียนอย่างเป็นทางการจากชุมชนหรือหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่น

คุณค่าต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ของโครงการ LBL

  • ติดตั้งและส่งมอบระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และระบบกักเก็บพลังงานให้กับวัด สถานที่ท่องเที่ยว ตลาด และสถานบริการสาธารณสุขชุมชน ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 152.17 tonCO2e
  • รายได้ (จากค่าไฟที่ประหยัดได้) จากการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับโครงการทั้งหมดในปี 2565 เท่ากับ 1,478,968.57 บาท
  • ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้ 794,710.45 กิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี (รวมทุกโครงการตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปี 2565)
  • ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ 475.76 tonCO2e ต่อปี (รวมทุกโครงการตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปี 2565)
  • รายได้ของนักศึกษาที่มาร่วมปรับปรุงระบบไฟฟ้าให้กับโรงเรียน 2 แห่งในพื้นที่ 96,000 บาท
  • ค่าไฟที่ประหยัดได้จากการเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าให้กับโรงเรียน 2 แห่งในพื้นที่ 10,497.92 บาท ต่อปี

ค่าผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (SROI)

  • โครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้าให้กับโรงเรียนบ้านเขาหินและวิทยาลัยเทคนิคระยอง = 2.55
  • โครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ให้กับวัดศรีแสงธรรม = 4.53
  • โครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ให้กับวัดจากแดง = 1.62
  • โครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ให้กับวัดพระราม 9 = 1.7
  • โครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ให้กับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว (ปีที่ 2) = 2.37
  • โครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และสถานบริการสาธารณสุขชุมชน (สสช.) อำเภออมก๋อย (รวมทั้งสิ้น 18 แห่ง) = 4.32

สำหรับโครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับหน่วยงานสาธารณสุขชุมชน จำนวน 18 แห่ง ในอำเภออมก๋อยนี้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563 โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ และปี 2565 นี้ เป็นระยะสุดท้าย โดยประโยชน์ของโครงการนี้มี 3 ด้านหลักๆ ด้วยกันคือ

ด้านคุณภาพชีวิต
  • สมาชิกชุมชนมีความสบายใจมากขึ้นในการเข้าถึงสาธารณสุข
  • บุคลากรของรพ.สต.และสสช. มีความรู้สึกปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากขึ้น
  • บุคลากรของรพ.สต.และสสช. มีเวลาในการใช้ชีวิตกับครอบครัวมากยิ่งขึ้น เนื่องจากลดการทํางานล่วงเวลา
ด้านเศรษฐกิจ
  • สมาชิกชุมชนลดรายจ่ายและค่าเสียโอกาสในการเดินทางไปโรงพยาบาลในอําเภออมก๋อย
  • สาธารณสุขอําเภอลดค่าใช้จ่ายในด้านเวชภัณฑ์ การขนส่ง เชื้อเพลิงในการป็นไฟสํารอง และการทํางานล่วงเวลาของบุคลากร
  • สาธารณสุขอําเภอลดค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยอาการสาหัสที่สามารถหลีกเลี่ยงได้
ด้านสิ่งแวดล้อม
  • รพ.สต.และสสช. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้ไฟฟ้าพลังงานสะอาด แทนการใช้เครื่องปั่นไฟ
  • สมาชิกชุมชนและสาธารณสุขอําเภอ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทาง เช่น สมาชิกชุมชนลดการเดินทางไปกลับโรงพยาบาลอําเภออมก๋อย และสาธารณะสุขลดการขนส่งวัคซีนหรือผู้ป่วยที่มีอาการสาหัส เนื่องจาก รพ.สต.และสสช. ทั้ง 18 แห่ง มีระบบไฟฟ้าที่สามารถให้บริการประชาชนได้ตลอด 24 ชั่วโมง

โครงการ LBL @ อมก๋อย ตอน จากแสงแดด สู่แสงไฟ

โครงการ LBL @ เกาะมันใน

โครงการโซลาร์เพื่อสังคม (Social Solar Project)

เพื่อตอบโจทย์ทางด้านสังคม-เศรษฐกิจ (Socio-Economic) ซึ่งเป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์โครงการ LBL ในการสร้างและส่งเสริมอาชีพ "หมอไฟฟ้า" ให้กับคนในชุมชนสังคม ดังนั้น ในปี 2565 บริษัทฯ ร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคระยองและเรือนจำเขาไม้แก้ว ได้นำผู้ต้องขังที่กำลังจะพ้นโทษมาฝึกอบรมอาชีพติดตั้งและบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีผู้เข้าอบรมทั้งสิ้น 14 คนในรุ่นแรก และในปี 2566 บริษัทฯ มีแผนที่จะจัดหางานรองรับคนกลุ่มนี้เพื่อให้พวกเขามีโอกาสฝึกฝนวิชาชีพที่ได้รับการอบรมมา โดยเริ่มจากการฝึกอบรมด้านการบำรุงรักษาระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ภายในเรือนจำสำหรับผู้ต้องขังที่ยังไม่ถึงกำหนดปล่อยตัว ส่วนผู้ที่ได้รับการปล่อยตัวแล้ว บริษัทฯ ได้ประสานกับผู้รับเหมาที่ยินดีรับคนกลุ่มนี้ไปทำงานและเป็นพี่เลี้ยงให้จนกว่าพวกเขาจะสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง

ในขณะเดียวกัน บริษัทฯ ร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ยังได้ทดลองดำเนินโครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในรูปแบบของวิสาหกิจเพื่อสังคม โดยนำร่องที่ตลาดหัวปลี จ.สระบุรี ภายใต้สัญญาเช่าซื้อระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคา ขนาด 10 กิโลวัตต์ ระหว่าง บริษัท สานพลังวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด กับ วิสาหกิจชุมชนตลาดหัวปลี จังหวัดสระบุรี โดยรายได้จากการเช่าซื้อระบบดังกล่าวจะนำไปต่อยอดเช่น ดำเนินโครงการที่มีลักษณะเดียวกันนี้ในพื้นที่อื่น จัดอบรมผู้ต้องขังหรือผู้ด้อยโอกาสในรุ่นต่อไป หรือ ดำเนินโครงการทางด้านสังคม (CSR) อื่นๆ เป็นต้น

โครงการฝึกอบรมพัฒนาอาชีพผู้ต้องขังเรือนจำกลางระยอง

คุณภาพชีวิต

บริษัทฯ มีนโยบายในการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนและสังคม ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ปลอดภัยจากอันตรายต่างๆ มีอาชีพรองรับ มีรายได้และความเป็นอยู่ที่ดี รวมถึงมีสุขภาพใจและกายที่สมบูรณ์ ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิเช่น โครงการ GPSC ร่วมใจ รวมไทย ช่วยชาติ เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 กิจกรรมพัฒนาศักยภาพของกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน กิจกรรมหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ กิจกรรมพัฒนาเยาวชน รวมถึงการส่งเสริมการเล่นกีฬา โครงการชมรมผู้สูงอายุ โครงการ Smart Farming โครงการวิสาหกิจชุมชนธนาคารขยะและการแปรรูปขยะ เป็นต้น

โครงการ “GPSC Restart Thailand 2022”

เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2564 โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยเหลือนักศึกษาจบใหม่ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 โดยในเฟสแรก (พ.ย.2564 - มิ.ย.2565) ส่วนกิจการเพื่อสังคมได้จ้างงานนักศึกษาจบใหม่ ภายใต้สัญญาจ้างเหมาบริการ จำนวน 25 คน ในอัตราเดือนละ 15,000 บาทต่อคน และในเฟสที่ 2 (ม.ค.-ธ.ค. 2565) ได้จ้างงานนักศึกษาจำนวน 25 อัตรา ประจำตำแหน่งงานต่างๆ ทั้งที่ระยองและสำนักงานใหญ่กรุงเทพฯ นอกเหนือจากการสร้างรายได้แล้ว นักศึกษาจบใหม่เหล่านี้ยังได้รับประสบการณ์ เรียนรู้ ฝึกฝนการทำงาน ซึ่งมากกว่าการฝึกงานในหลักสูตรการเรียนของทางมหาวิทยาลัย

SDG 3: GOOD HEALTH AND WELL-BEING
GRI 413-2

โครงการ Smart Farming มีกลุ่มเป้าหมายซึ่งประกอบด้วย เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ด้อยโอกาส โดยมีโครงสร้างการทำงานซึ่งประกอบด้วย ผู้จัดการพื้นที่ที่เป็นพนักงานของบริษัทฯ และพนักงานจากโครงการ Restart Thailand จำนวน 5 คน/พื้นที่ โดยได้คัดเลือกนักศึกษาจบใหม่ที่ยังไม่ประกอบอาชีพและส่วนใหญ่เป็นคนในพื้นที่ เข้ามาอบรมพื้นฐานความรู้ด้านการเกษตรและเทคโนโลยีเพื่อทำงานในโครงการนี้โดยเฉพาะ โดยมีจุดมุ่งหมายในการดำเนินงานดังนี้

  • นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อยกระดับกระบวนการเพาะปลูกและการพัฒนาผลิตผลทางการเกษตร
  • พัฒนาธุรกิจด้านเกษตรกรรมสมัยใหม่ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และการบริหารจัดการแบบองค์รวม
  • มุ่งเน้นการพัฒนาโดยใช้พลังงานชุมชนและความเชี่ยวชาญของบริษัทฯ
  • เพื่อเพิ่มรายได้จากความสามารถในการผลิต พร้อมลดรายจ่าย และลดเวลาทำงาน รวมถึงเพิ่มผลผลิตของชุมชนด้วยเกษตรกรรมสมัยใหม่ เพื่อให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

บริษัทฯ ได้ดำเนินการโครงการ GPSC Smart Farming มาต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยยังคงดำเนินงานใน 2 พื้นที่ได้แก่ บ้านสวนต้นน้ำ อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นพื้นที่ดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ และบ้านห้วยขาบ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่บริษัทฯ ดำเนินโครงการกิจการเพื่อสังคมมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2565 นี้ บริษัทฯได้ร่วมกับพันธมิตรคือ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ในการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมและงานวิจัยของนักวิจัยไทยมาช่วยเหลือการพัฒนาการเกษตรให้เป็นระบบการเกษตรแบบอัจฉริยะที่แท้จริง โดยรายละเอียดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ใช้ในพื้นที่มีดังนี้

8 เทคโนโลยีที่ใช้พื้นที่โครงการ Smart Farming

สำหรับแนวทางการดำเนินงานในปี 2566 บริษัทฯ มีแผนจะขยายพื้นที่ดำเนินโครงการในจังหวัดระยอง โดยมีเป้าหมายที่จะพัฒนาการเกษตรแบบอัจฉริยะสำหรับการเพาะปลูกเห็ดเยื่อไผ่ ในพื้นที่รอบ EECi วังจันทร์ จ.ระยอง

โครงการ Smart Farming อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน

คุณค่า/ประโยชน์ต่อองค์กรของโครงการ Smart Farming

  • สร้างภาพลักษณ์ในการเป็นแกนนำนวัตกรรมด้านพลังงานของบริษัทฯ

คุณค่า/ประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมของโครงการ Smart Farming

  • ลดรายจ่าย สร้างรายได้กับชุมชนในพื้นที่
  • สร้างทักษะอาชีพให้คนในชุมชน

ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

บริษัทฯ ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในพื้นที่และชุมชนใกล้เคียงกับพื้นที่ดำเนินการของบริษัทฯ โดยดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ สร้างสมดุลของระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด โดยกิจกรรมด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในปี 2565 ได้แก่ 1) โครงการปลูกหญ้าทะเล 2) โครงการปลูกป่าและสร้างฝายชะลอน้ำที่บริษัทฯ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวและฟื้นฟูระบบนิเวศ รวมทั้งช่วยดูดซับคาร์บอน และ 3) โครงการด้านการจัดการขยะ ซึ่งยังคงเป็นโครงการที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญและส่งเสริมให้ชุมชนดำเนินการมาโดยตลอดเพื่อบรรลุเป้าหมายของการเป็นชุมชนปลอดขยะ หรือ Zero Waste Village

โครงการปลูกหญ้าทะเล

กลุ่มบริษัท GPSC, ทัพเรือภาคที่ 1 และศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยฝั่งตะวันออก (ศวทอ.) ร่วมกันศึกษาวิจัยพื้นที่ที่หมาะสมในการปลูกและขยายพันธุ์หญ้าทะเล ซึ่งเชื่อว่าจะมีส่วนช่วยในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และฟื้นฟูระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลให้อุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น โดยเริ่มทดลองปลูกใน 2 พื้นที่ได้แก่ 1) หาดนภาธาราภิรมย์ กิจการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ กองการบินทหารเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี จำนวน 5,000 กอ บนพื้นที่ 3 ไร่ และ 2) เกาะขาม ทัพเรือภาคที่ 1 อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี จำนวน 5,000 กอ บนพื้นที่ 3 ไร่ โดยคาดว่าจะช่วยลดปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกได้ 66 tonsCO2e/ปี ตามระเบียบวิธีการคำนวณขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนที่จะทำการสำรวจและเก็บข้อมูลด้านวิชาการ ทั้งด้านการกักเก็บคาร์บอนในระบบนิเวศหญ้าทะเล และด้านความหลากหลายทางชีวภาพอย่างต่อเนื่องเพื่อประโยชน์ต่องานวิจัยในอนาคต

SDG 12: RESPONSIBLE CONSUMPTION AND PRODUCTION
SDG 13: CLIMATE ACTION
GRI 413-2

โครงการ Zero Waste Village มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกและรณรงค์ให้คนในชุมชนคัดแยกขยะอย่างถูกวิธีได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะเป็นการสร้างคุณค่าให้กับขยะและสิ่งของเหลือใช้ อีกทั้งช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและดูแลทรัพยากรธรรมชาติให้กับชุมชน โดยโครงการ Zero Waste Village นี้ เป็นโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตควบคู่กับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมที่จะพัฒนาต่อยอดในเชิงธุรกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise ก่อให้เกิดรายได้กลับคืนสู่ชุมชนและสร้างความยั่งยืนภายในสังคมและชุมชนด้วยตนเอง

ในปี 2565 บริษัทฯ ร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคนิคมอุตสาหกรรมระยอง มูลนิธิโลกสีเขียว และ Precious Plastic Bangkok ได้พัฒนาเครื่องจักรแปรรูปผลิตภัณฑ์จากขยะพลาสติกในชุมชน ภายใต้โครงการ “BAANPHAI Upcycling Model” โดยได้รูปแบบเครื่องจักรมาจากองค์กรจัดการขยะพลาสติกระดับโลกอย่าง Precious Plastic ประกอบด้วย เครื่องบดพลาสติก (Shredder) และเครื่องหลอมพลาสติก (Extrusion) เพื่อแปรรูปขยะประเภทฝาขวดน้ำพลาสติก ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนต่อไป

และเพื่อตอกย้ำถึงความสำเร็จของการดำเนินงาน ชุมชนบ้านไผ่ หมู่ 1 จังหวัดระยอง ยังได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 3 โครงการชุมชนปลอดขยะ ระดับประเทศ ประจำปี 2565 จากกรมส่งเสริมคุณภาพและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งรางวัลเชิดชูเกียรติระดับจังหวัดอื่นๆ อีกมากมาย

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้เข้าไปให้ความรู้กับชุมชนเกี่ยวกับขยะที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ แต่ยังคงมีค่าความร้อนสูงเหมาะกับการนำไปเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้า RDF เช่น ถุงหูหิ้วพลาสติก หรือ ซองพลาสติก เป็นต้น และบริษัทฯ ยังได้รับซื้อขยะเชื้อเพลิง (RDF) ซึ่งมีค่าความร้อนสูง จากวิสาหกิจชุมชนธนาคารขยะออมทรัพย์ 4 แห่ง เพื่อเพิ่มรายได้และทำให้พื้นที่ทำงานของชุมชนไม่มีขยะตกค้าง ส่งมลพิษทางร่างกายให้กับผู้ปฎิบัติงาน

สรุปผลการดำเนินโครงการ Zero Waste Village (ชุมชนบ้านไผ่)

  • รายได้ของศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะบ้านไผ่ (จากธนาคารขยะ การขายผลิตภัณฑ์แปรรูปจากขยะ การเป็นวิทยากร การรับคณะศึกษาดูงาน) 420,655 บาท เพิ่มขึ้นจาก 131,588 บาท ในปี 2564
  • ปริมาณขยะที่ลดลง 5,124 กิโลกรัม
  • รับซื้อขยะเชื้อเพลิง (RDF) ซึ่งมีค่าความร้อนสูง จากวิสาหกิจชุมชนธนาคารขยะออมทรัพย์ 4 แห่ง เป็นจำนวนทั้งสิ้น 2,010 กิโลกรัม เทียบเท่ากับการลดก๊าซเรือนกระจก 875 Kg/Co2eq หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 121 ต้น (อ้างอิงจากการคำนวณขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก)
  • ปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกจากการรับซื้อขยะของโรงไฟฟ้า RDF และศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะบ้านไผ่ = 11.5 tons Co2eq/year
คุณค่าต่อองค์กรของโครงการ Zero Waste Village
  • ผลสำรวจความพึงพอใจชุมชนอยู่ที่ระดับ 78%
  • สร้างความสัมพันธ์อันดีกับชุมชนในพื้นที่
  • การคัดแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้การผลิตเชื้อเพลิงจากขยะมูลฝอยที่มาจากชุมชน มีประสิทธิภาพ
คุณค่าต่อชุมชนและสังคมของโครงการ Zero Waste Village
  • สร้างความตระหนักด้านการจัดการขยะให้กับชุมชน และนักเรียนในพื้นที่
  • ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
  • ส่งเสริมให้ชุมชนประกอบอาชีพเสริมและสร้างรายได้เพิ่มเติม
  • ผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (SROI) = 2.21

ข่าวส่งมอบนวัตกรรมแปรรูปขยะ

นวัตกรรม

ในฐานะที่เป็นแกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. บริษัทฯ ตระหนักถึงความสำคัญของนวัตกรรมต่อการพัฒนาองค์กร และส่งเสริมให้มีการนำนวัตกรรมมาใช้ทั้งในเชิงธุรกิจและสังคมเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกในยุคปัจจุบัน โดยบริษัทฯ เชื่อว่านวัตกรรมทางสังคม หรือ Social Innovation ซึ่งกำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในปัจจุบัน จะสามารถตอบสนองและแก้ไขปัญหาสังคมเพื่อให้ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยนำเทคโนโลยีและแนวคิดใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้

SDG: 9: INDUSTRY, INNOVATION AND INFRASTRUCTURE
GRI 413-2

โครงการ GPSC Young Social Innovator เริ่มต้นขึ้นในปี 2561 ในรูปแบบของค่ายอบรมและแข่งขันนวัตกรรมของเยาวชนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าระดับภูมิภาคตะวันออก มีทีมสมัครเข้าร่วมการแข่งขันจำนวน 39 ทีม แต่จากความสำเร็จของผลงานเยาวชนที่ได้รับรางวัล 1 เหรียญเงิน และ 1 special award จากการแข่งขันนวัตกรรมระดับนานาชาติเวที Seoul International Invention Fair (SIIF) ทำให้ในปีถัดมาคือปี 2562 โครงการ GPSC Young Social Innovator ได้ขยายกลุ่มเป้าหมายเยาวชน โดยยกระดับจากการแข่งขันระดับภูมิภาคเป็นการแข่งขันระดับประเทศ ส่งผลให้ในปีที่ 2 นี้ มีเยาวชนจำนวน 158 ทีมสมัครเข้าร่วมโครงการ โดยผลงานของเยาวชนรุ่นที่ 2 นี้เป็นที่ประจักษ์ชัดยิ่งขึ้น เพราะถึงแม้จะประสบกับวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 จนทำให้การแข่งขันนวัตกรรมนานาชาติที่เป็นเป้าหมายของการแสดงฝีมือและศักยภาพของเยาวชนไทยเกือบทุกเวทีถูกยกเลิกหรือปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นแบบออนไลน์ แต่ถึงกระนั้น ผลงานของเยาวชนโครงการ GPSC Young Social Innovator ยังคงเป็นที่ประจักษ์ในเวทีระดับนานาชาติ โดยได้รับ 1 เหรียญทอง 1 special award จาก International British Inventions, Innovation Exhibition (IBIX) และ 2 เหรียญทอง 1 เหรียญเงิน 3 special award จาก World Invention Innovation Contest (WIC)

จากความสำเร็จเป็นอย่างมากของโครงการ GPSC Young Social Innovator season 2 ในปี 2562 บริษัทฯ จึงมุ่งมั่นที่จะยกระดับโครงการให้เป็นค่ายอบรมบ่มเพาะทักษะด้านนวัตกรรม ปลุกปั้นนวัตกรรุ่นใหม่ ให้กับประเทศไทย โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศโครงการ GPSC Young Social Innovator 2563 ให้เป็นรางวัลใหญ่ของการแข่งขันในปีที่ 3 ทำให้โครงการยิ่งได้รับความสนใจจากเยาวชนทั่วประเทศและมีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการอย่างล้นหลามถึง 303 ทีม

และปัจจุบันโครงการ GPSC Young Social Innovator อยู่ระหว่างการดำเนินงานในปีที่ 5 ซึ่งจัดขึ้นในรูปแบบของโลกออนไลน์เสมือนจริงหรือ Metaverse โดยแบ่งนวัตกรรมที่เข้าแข่งขันเป็น 3 ประเภทคือ ผลิตภัณฑ์, สิ่งประดิษฐ์ และกระบวนการและบริการ ซึ่งมีเยาวชนที่สนใจสมัครเข้าร่วมการแข่งขันจำนวน 454 ผลงาน และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศโครงการ GPSC Young Social Innovator 2565 เป็นรางวัลใหญ่ของแต่ละประเภทผลงาน รวมทั้งสิ้น 3 ถ้วยรางวัล

ภาพรวมของโครงการ GPSC Young Social Innovator ที่ผ่านมานอกเหนือจากการมีเยาวชนสนใจเข้าร่วมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกๆ ปี เยาวชนที่เข้าร่วมยังสามารถพัฒนาผลงานเพื่อยื่นจดสิทธิบัตรและอนุสิทธิบัตรได้ถึง 10 ผลงาน ยังได้รับรางวัลจากการประกวดนวัตกรรมระดับนานาชาติมากกว่า 22 รางวัล และจากการประเมินผลตอบแทนทางสังคม หรือ SROI ของโครงการมีค่าสูงขึ้น โดยในปีล่าสุดมีค่า SROI อยู่ที่ 2.11

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการแข่งขันไม่ใช่เป้าหมายหลักที่แท้จริงของโครงการ GPSC Young Social Innovator แต่อย่างใด บริษัทฯ มีความมุ่งหวังและเป้าหมายที่จะผลักดันให้เยาวชนเห็นคุณค่าของชุมชนสังคม ด้วยการนำนวัตกรรมที่ประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมานั้นไปพัฒนาสังคมของตนเองให้มีคุณภาพในยุค 4.0 นี้ และจาก 4 ปีของการดำเนินโครงการ GPSC Young Social Innovator นอกจากรางวัลจากการประกวดนวัตกรรมนานาชาติซึ่งเป็นที่ประจักษ์ชัดเจนถึงฝีมือ ความมุ่งมั่น และทักษะทางวิชาการของเยาวชนไทยแล้ว เยาวชน GPSC Young Social Innovator ยังได้นำนวัตกรรมเหล่านั้นไปถ่ายทอดและขยายผลไปสู่ชุมชนอีกด้วย อาทิ

  • การเพิ่มมูลค่าของข้าวฮางงอกเป็นผลิตภัณฑ์กำจัดกลิ่นต่างๆ ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งได้มีการถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน โดยใช้วัตถุดิบตั้งต้นจากชุมชนเอง มีการจัดจำหน่าย สร้างรายได้ สร้างอาชีพทั้งทางตรงและทางอ้อมให้กับคนในชุมชน
  • การแปรรูปวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตรเป็นกระดาษและพัฒนาต่อยอดเป็นบรรจุภัณฑ์ประเภทต่างๆ ซึ่งนอกเหนือจากการถ่ายทอดองค์ความรู้และเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนแล้ว ยังเป็นการสร้างความตระหนักเรื่องการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับคนในชุมชนทางอ้อมอีกด้วย
  • การแปรรูปของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตสินค้าอาหารของชุมชน (น้ำหมักปลาส้ม) เป็นน้ำกรดสำหรับกระบวนการเก็บผลผลิตยางพาราที่ช่วยลดการใช้สารเคมีที่มีอันตรายและยังช่วยเพิ่มน้ำหนักยางพาราให้มากยิ่งขึ้น ส่งผลต่อเนื่องให้ยางพารามีคุณภาพดีขึ้น สามารถจำหน่ายได้ในราคาสูงขึ้นอีกด้วย
  • การพัฒนาผ้าพื้นเมืองด้วยไคโตซานทำให้ผ้าย้อมครามและผ้าพื้นเมืองอื่นๆ มีอายุยืนยาวขึ้น รวมไปถึงขั้นตอนการย้อมก็สะดวกมากขึ้น สีติดทนมากขึ้น เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นให้มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น
  • การพัฒนาเซรั่มจากเห็ดเยื่อไผ่ หรือ B-mushroom serum ภายใต้แบรนด์ Nuallaor ให้สามารถจดทะเบียนอาหารและยา (อย.) และจัดจำหน่ายทั่วไป

ทั้งนี้ บริษัทฯ เชื่อว่าการเป็นคนเก่งนั้นควรจะต้องเป็นคนดีควบคู่กันไปด้วย เช่นเดียวกับการเป็นนวัตกรที่ดีนั้น จะต้องสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นประโยชน์ สามารถช่วยเหลือชุมชน สังคม ประเทศชาติได้ด้วยเช่นกัน

คุณค่าต่อองค์กร
  • สร้างความสัมพันธ์ที่ดีร่วมกันระหว่างบริษัทฯ โรงเรียน ชุมชน และประชาชนทั่วไป
  • สร้างบุคลากรในสาขาที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ
  • มูลค่าการประชาสัมพันธ์ (PR Value) 1.2 ล้านบาท
คุณค่าต่อชุมชนและสังคม
  • การเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา
  • ชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีผลงานที่ช่วยแก้ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตามเป้าหมายการพัฒนายุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตของคุณภาพชีวิตบนหลักการมีส่วนร่วมและธรรมาภิบาลอย่างสมดุล
  • มีบุคลากรที่มีความรู้ และเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผลงานนวัตกรรมที่เหมาะสม และเกิดประโยชน์ต่อสังคมชุมชน สิ่งแวดล้อม

สำหรับผลการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของบริษัทในปี 2565 ที่ผ่านมา พบว่าส่วนใหญ่ทำได้สูงกว่าเป้าที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นผลสำรวจความพึงพอใจของชุมชนที่มีต่อบริษัท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 75 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 78; การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งสามารถลดได้ถึง 757 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี จากที่ตั้งไว้ไม่น้อยกว่า 100 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี; การช่วยให้ชุมชนเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนโดยการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งในปี 2565 มียอดรวมของกำลังการผลิตสูงสุด (ของทุกโครงการตั้งแต่ปี 2561-2565) อยู่ที่ 328.53 กิโลวัตต์ จากเป้าที่ตั้งไว้ที่ 1,000 กิโลวัตต์ ภายในปี 2568; หรือ การประเมินค่าผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (SROI) ใน 12 โครงการ/กิจกรรม ซึ่งมีค่าอยู่ระหว่าง 1.35 – 4.53 ประกอบด้วย

จากผลการดำเนินงานในภาพรวมดังกล่าวถือว่าประสบผลสำเร็จอย่างมากเมื่อเทียบกับเป้าหมายที่วางไว้ และบริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะยกระดับการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมโดยการตั้งเป้าหมายที่มีความท้าทายมากยิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนวิสัยทัศน์ของบริษัทฯที่จะก้าวไปสู่การเป็นองค์กรชั้นนำด้านนวัตกรรมที่ยั่งยืนในธุรกิจไฟฟ้าทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก

รูปแบบการสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสังคม

หน่วย ปี 2565
สนับสนุนงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคม (Cash Contributions) THB 16,023,929 บาท
มูลค่าเวลา - พนักงานที่อาสาสมัครระหว่างเวลาทำงาน (Time: employee volunteering during paid working hours) THB 345 คน
1,850 ชม.
การบริจาคในรูปแบบของสิ่งของและบริการ (In-kind Giving) THB 8,191,721 บาท
ค่าบริหารจัดการสำหรับกิจกรรมเพื่อสังคม (Management Overheads) THB 12,056,429 บาท

รูปแบบการลงทุนและการบริจาคเพื่อสังคม

ปรับปรุง ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2566

เนื้อหาข้างต้นจัดทำตามมาตรฐานการรายงานความยั่งยืน โดย The Global Reporting Initiative (GRI Standards) ได้รับการตรวจสอบความถูกต้องโดยหน่วยงานภายนอกและให้ความเชื่อมั่นข้อมูลการรายงานในระดับจำกัด (Limited Assurance)