การกำหนดเป้าหมายและการดำเนินธุรกิจที่สนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของ องค์การสหประชาชาติ (SDGs)

จีพีเอสซี ได้ดำเนินการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหลัก 7 เป้าหมายจากทั้งหมด 17 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 7 (พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้) เป้าหมายที่ 8 (การจ้างงานที่ มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ) เป้าหมายที่ 9 (อุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน) เป้าหมายที่ 11 (เมืองและถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน) เป้าหมายที่ 12 (แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน) เป้าหมายที่ 13 (การรับมือการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ) และเป้าหมายที่ 16 (สังคมสงบสุข ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก) เพื่อกำหนดแนวทาง การบริหารจัดการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและสร้างประโยชน์แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม

7: 7.1, 7.2, 7.3
แรงจูงใจและความเชื่อมโยงต่อธุรกิจ
จีพีเอสซี ในฐานะแกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. มีความมุ่งมั่นที่จะนำทักษะ ความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญในการพัฒนาระบบไฟฟ้า ในการส่งมอบพลังงานสะอาดให้กับชุมชนทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ โดยได้จัดทำโครงการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นให้มีความปลอดภัย มีอาชีพที่มั่นคง ซึ่งเป็นผลดีต่อทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น โครงการ “Light for a Better Life” (LBL) การลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นต้น โดยความมุ่งมั่นในเรื่องนี้สอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนเป้าหมายที่ 7 คือ การมีพลังงานที่เข้าถึงได้ เชื่อถือได้ อย่างยั่งยืนและทันสมัย

แผนการดำเนินงาน

  • ขยายพื้นที่ดำเนินการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และระบบกักเก็บพลังงาน ผ่านโครงการ Light for a Better Life: Renewable Energy in Remote Areas ซึ่งเป็นโครงการปรับปรุงระบบไฟฟ้า ติดตั้งและส่งมอบระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และระบบกักเก็บพลังงานในพื้นที่ห่างไกลและชุมชนที่ไฟฟ้ายังเข้าไม่ถึง โดยในปี 2564 มีการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ใน 4 พื้นที่ ได้แก่ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว, สถานบริการสาธารณสุขชุมชน (สสช.) 8 แห่ง ในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่, โครงการ SMART Farming อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง และโครงการ SMART Farming อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน รวม 58.29 กิโลวัตต์สูงสุด ซึ่งทำให้ปริมาณการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของส่วนกิจการเพื่อสังคม เพิ่มขึ้นจาก 181.98 กิโลวัตต์สูงสุด ในปี 2563 เป็น 240.27 กิโลวัตต์สูงสุด ในปี 2564
  • ติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อลดค่าไฟฟ้าให้กับวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จังหวัดสระแก้ว โดยมีเป้าหมายที่จะนำเงินส่วนต่างจากการประหยัดค่าไฟฟ้าไปแปลงเป็นต้นทุน (แบบให้ยืม) สำหรับดำเนินธุรกิจทางการเกษตรให้กับนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์เพื่อการสร้างรายได้ต่อไป
  • ดำเนินการติดตั้งระบบเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ที่อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง และอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน และศึกษาแนวทางร่วมกับวิทยาลัยเกษตรกรรมและเทคโนโลยีสระแก้ว
  • ติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่โรงไฟฟ้า Glow IPP บ่อวิน สำหรับการใช้งานภายในระบบปฏิบัติการ
  • ดำเนินการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมนอกชายฝั่ง ภายใต้กลยุทธ์บริษัทฯ
  • ดำเนินการโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในระบบปฏิบัติการ และส่งผลให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 149,248 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
  • มองหาโอกาสใหม่ๆ เพิ่มเติมในการพัฒนาและลงทุนโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน โดยร่วมกับกลุ่ม ปตท. ในการแสวงหาโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ
  • ติดตั้งและส่งมอบระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและระบบกักเก็บพลังงานให้แก่ชุมชนที่อยู่ห่างไกลและขาดแคลนไฟฟ้าทั่วประเทศ โดยในปี 2565 จะดำเนินการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มเติมให้กับสถานบริการสาธารณสุขชุมชน (สสช.) อีก 8 แห่ง ในอำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ รวมทั้งติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และระบบกักเก็บพลังงานให้กับอุทยานใต้ทะเลเกาะขาม จังหวัดชลบุรี และวัดป่าศรีแสงธรรม จังหวัดอุบลราชธานี
  • เข้าร่วมโครงการอนุรักษ์พลังงานของหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง
  • มีแผนติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ห่างไกลให้ครบ 1,000 กิโลวัตต์สูงสุดในอีก 5 ปีข้างหน้า จากปัจจุบันที่ได้ดำเนินการติดตั้งไปแล้ว 240.94 กิโลวัตต์ (ระหว่างปี 2561-2564)
  • วางแผนพัฒนาโครงการเพิ่มประสิทธิการใช้พลังงานระหว่างปี 2564 ถึง 2572 และคาดว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 1,240,929 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
  • เข้าลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศอินเดีย และใต้หวัน ส่งผลให้บริษัทฯมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 2,635 เมกะวัตต์ ในปี 2566

ประโยชน์ต่อบริษัท

  • เพิ่มโอกาสการดำเนินธุรกิจพลังงานไฟฟ้ารูปแบบใหม่ๆ
  • ลดต้นทุนการผลิตพลังงานไฟฟ้า
  • พัฒนาความเชี่ยวชาญด้านการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์จากการเพิ่มสัดส่วนกำลังการผลิตที่มาจากพลังงานหมุนเวียนพื้นที่ห่างไกล
  • การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และลดความเข้มข้นของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • ลดการใช้พลังงานและสามารถลดค่าใช้จ่าย
  • เสริมสร้างความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญของบุคลากร โดยพนักงานจำนวน 30 คนเข้าร่วมโครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือคิดจำนวนทำงานจิตอาสา 120 ชั่วโมง
  • ได้รับความพึงพอใจชุมชน ร้อยละ 75
  • ไม่ได้รับข้อร้องเรียนจากหน่วยงานภาครัฐ

ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

  • ตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าและสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในพื้นที่ขาดแคลน
  • ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าโดยใช้พลังงานหมุนเวียนและระบบกักเก็บพลังงานให้กับชุมชน ได้มากกว่า 1,000,000 บาท เมื่อเทียบกับค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน ในปี 2564
  • ลดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • สนับสนุนนโยบายภาครัฐในการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน
  • ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นปริมาณ 171,159 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
  • ค่าเฉลี่ยของผลตอบแทนทางสังคมจากการลงทุน (SROI) ในโครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และระบบกักเก็บพลังงานให้กับสสช. 8 แห่ง ในอำเภออมก๋อย เท่ากับ 1 ต่อ 5.08
  • สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนสหกรณ์เลี้ยงกุ้ง จังหวัดจันทบุรี จำนวน 4.39 ล้านบาท จากการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์

เป้าหมายการดำเนินงาน

  • เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นร้อยละ 37 ภายในปี 2566 โดยมีเป้าหมายระยะยาวในการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 8,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573
  • ดำเนินโครงการด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพ โดยการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมภายในปี 2565
  • ส่งมอบระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและระบบกักเก็บพลังงานจำนวน 1,000 กิโลวัตต์ให้แก่ชุมชนที่ขาดแคลนทั่วประเทศภายในปี 2569
8: 8.1, 8.2, 8.3, 8.4, 8.5, 8.6, 8.7, 8.8, 8.9
แรงจูงใจและความเชื่อมโยงต่อธุรกิจ
จีพีเอสซี ตระหนักดีว่าความมั่นคงทางไฟฟ้ามีความสำคัญต่อการสร้างอาชีพและรายได้ซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐานที่สำคัญต่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีต่อประชาชน สังคมตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศให้มีความมั่นคงทั้งในระดับจุลภาคและมหภาค จึงมุ่งมั่นขยายกำลังการผลิตและจัดส่งพลังงานที่ครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศเพื่อสร้างความมั่นคงและเพิ่มโอกาสในการดำเนินธุรกิจใหม่ๆ ให้สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น รวมถึงการสร้างความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนทุกคนโดยความมุ่งมั่นในเรื่องนี้สอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนข้อที่ 8 คือ การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ

แผนการดำเนินงาน

  • ปฏิบัติตามข้อกำหนดและข้อบังคับตาม กฎหมายแรงงานอย่างเคร่งครัด ต่อต้านการจ้างงานผิดกฎหมายทุกรูปแบบ รวมถึงดำเนินงานตามนโยบายสิทธิมนุษยชนของบริษัทฯ
  • จัดหาพื้นที่ปฏิบัติงานที่เหมาะสม ปลอดภัยในการทำงาน โดยดำเนินการจัดทำแผนงานวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยสำหรับกลุ่มบริษัทฯ และมีการดำเนินงานเกี่ยวกับการประเมินความปลอดภัยสำหรับผู้รับเหมา
  • ส่งเสริมการจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจผ่านโครงการจ้างงานเพิ่ม
  • สนับสนุนโครงการสาธารณูปการ เพื่อ สนับสนุนระเบียงเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) เพื่อกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
  • ดำเนินโครงการด้านการเพิ่มประสิทธิภาพ พลังงานและลงทุนด้านเทคโนโลยีการผลิตพลังงาน เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและส่งเสริมการจ้างงาน
  • ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองหลักและเมืองรองของประเทศไทยผ่านโครงการและกิจกรรมภายในของบริษัทฯ
  • ยุติและเฝ้าระวังการใช้แรงงานเด็กและเยาวชนตามข้อบังคับด้านสิทธิมนุษยชนตามแนวปฏิบัติสากล
  • ส่งเสริมพื้นที่ท่องเที่ยวยั่งยืนคุ้งบางกระเจ้า โดยร่วมมือกับกลุ่ม ปตท.
  • โครงการจ้างงานระยะสั้น (Restart Thailand) เป็นระยะเวลา 6 เดือน เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์และช่วยเหลือเยียวยานักศึกษาจบใหม่จากวิกฤต COVID-19 จำนวน 25 คน
  • ขยายกำลังการผลิตพลังงานไฟฟ้าให้แก่พื้นที่อุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศโดยเฉพาะในประเทศเป้าหมาย เพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ประโยชน์ต่อบริษัท

  • เพิ่มโอกาสการดำเนินธุรกิจใหม่ๆ
  • การเติบโตทางเศรษฐกิจส่งผลต่อการเพิ่มความต้องการใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ
  • สร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร
  • เสริมสร้างความรู้ ทักษะ ความเชี่ยวชาญของบุคลากร และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
  • รักษาพนักงานและลดอัตราการลาออกในองค์กร

ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

  • ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ทั้งสิ้น 56,801 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าจากโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
  • ส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจในพื้นที่ปฏิบัติงานและระดับประเทศ
  • ส่งเสริมและเพิ่มการจ้างงานท้องถิ่น
  • สร้างพื้นที่สีเขียวและแหล่งท่องเที่ยว
  • เฝ้าระวังและยุติการจ้างงานที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน
  • นักศึกษาจบใหม่ได้รับประสบการณ์จริงจากการทำงาน

เป้าหมายการดำเนินงาน

  • เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าอย่างน้อย 1,500 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568
  • เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นร้อยละ 37 ภายในปี 2566 โดยมีเป้าหมายระยะยาวในการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 8,000 เมกะวัตต์ภายในปี 2573
  • พัฒนาและลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งช่วยส่งเสริมการจ้างงานและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
  • พัฒนาโครงการพลังงานความร้อนร่วมและพลังงานหมุนเวียนในโครงการ EEC และ EECi
  • ดำเนินงานตามแผนงานวัฒนธรรมความปลอดภัยในพื้นที่ปฏิบัติการของกลุ่มบริษัทฯ สามารถติดตามผลและประเมินผู้รับเหมาที่โดดเด่นในด้านการดำเนินงานด้านความปลอดภัย เพื่อประกอบการคัดเลือกคู่ค้าของบริษัทฯ
  • ดำเนินโครงการจ้างงานระยะสั้น (Restart Thailand) ในปี 2565 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยขยายระยะเวลาจ้างงานนักศึกษาจบใหม่จาก 6 เดือนเป็น 1 ปี จำนวนไม่เกิน 20 คน
9: 9.2, 9.4, 9.5
แรงจูงใจและความเชื่อมโยงต่อธุรกิจ
นวัตกรรมถือเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการผลักดันธุรกิจ ทั้งก่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนา จีพีเอสซีจึงริเริ่มโครงการต่างๆ เพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ส่งเสริมความยั่งยืนทั้งทางธุรกิจและสังคม เช่น การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการกักเก็บพลังงานร่วมกับหุ้นส่วนธุรกิจและได้ก่อสร้างโรงงานผลิตแบตตอรี่ต้นแบบ เพื่อเตรียมรองรับความต้องการด้านการกักเก็บพลังงานในอนาคต การพัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้แก่สถานที่ต่างๆ และโครงการ GPSC Young Social Innovator (YSI) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของจีพีเอสซี ที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ผ่านโครงการ ผลิตภัณฑ์ หรือวิธีการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ให้แก่เยาวชนถึงการใช้พลังงานและทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดผลกระทบเชิงลบด้านสิ่งแวดล้อม และส่งเสริมเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศให้แข็งแรง เป็นต้น สำหรับโครงการนวัตกรรมดังกล่าวนี้ สอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืนข้อ 9 ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการปรับตัวให้เป็นอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนและทั่วถึง และสนับสนุนด้านนวัตกรรม

แผนการดำเนินงาน

  • เสร็จสิ้นการก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบ (Semi Solid) ขนาด 30 เมกะวัตต์-ชั่วโมง/ ปี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและมีแผนขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
  • ติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำขนาด 18 กิโลวัตต์ เพื่อการเรียนรู้ด้านเกษตรกรรม ณ ศูนย์การเรียนรู้เกษตรนวัต สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง
  • วิจัยและพัฒนาการกักเก็บพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy Storage System: ESS) ซึ่งใช้ในการจัดเก็บและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
  • ดำเนินโครงการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ที่อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง และอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน และศึกษาแนวทางร่วมกับวิทยาลัยเกษตรกรรมและเทคโนโลยีสระแก้ว
  • ดำเนินโครงการประกวดนวัตกรรมร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และวางแผนขยายความร่วมมือออกไปยังสถาบันการศึกษาอื่นๆ
  • ริเริ่มโครงการนวัตกรรมแบบเปิดกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ดำเนินโครงการ GPSC Young Social Innovator (YSI) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 โดยมีการจัดประเภทการประกวดที่หลากหลายและชัดเจนยิ่งขึ้น
  • ขยายธุรกิจและการลงทุนไปในเขตประเทศกำลังพัฒนาด้านอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมผ่านเทคโนโลยี
  • โครงการประกวดนวัตกรรมใหม่ในระดับนักศึกษาปริญญาตรีจนถึงนักศึกษาจบใหม่ โดยมีแนวคิดจากธุรกิจและผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ซึ่งจะดำเนินการในปี 2565

ประโยชน์ต่อบริษัท

  • เพิ่มโอกาสการดำเนินธุรกิจใหม่ๆ
  • ประหยัดค่าใช้จ่ายจากโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน 1,660,422,082 บาท
  • สร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อองค์กร
  • ถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย
  • เพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต
  • มูลค่าทางการประชาสัมพันธ์ (PR Value) อยู่ที่ 2.96 ล้านบาทโดยประมาณจากการทำโครงการ CSR GPSC Young Social Innovator (YSI)
  • ผลการประเมินผลตอบแทนทางสังคม (SROI) จากโครงการ CSR GPSC Young Social Innovatorเท่ากับ 1 ต่อ 1.62
  • เสร็จสิ้นการก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ เพื่อใช้เป็นฐานการผลิตแบตเตอรี่และต่อยอดธุรกิจ

ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

  • ส่งเสริมการขยายตัวทางอุตสาหกรรมและความต้องการทางเศรษฐกิจ
  • ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นจากโครงการ GPSC Young Social Innovator สามารถจำหน่ายเชิงพาณิชย์
  • ชุมชนมีระบบสาธารณูปโภคที่ดีขึ้นและขยายการจ้างงาน
  • ส่งเสริมการวิจัยและคิดค้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
  • ผลการประเมินผลตอบแทนทางสังคม (SROI) จากโครงการ Smart Farming พื้นที่อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง เท่ากับ 1 ต่อ 2.24 และพื้นที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน เท่ากับ 1 ต่อ 1.67
  • ผู้ได้รับผลโยชน์มากกว่า ร้อยละ 50 ได้รับการฝึกอบรมเสริมทักษะเกี่ยวกับนวัตกรรมสำหรับโลกอนาคต

เป้าหมายการดำเนินงาน

  • ส่งเสริมการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่การดำเนินธุรกิจและให้การสนับสนุนช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ จากเหตุการณ์ภัยพิบัติของประเทศอย่างต่อเนื่อง
  • พัฒนาโครงการ Smart Energy และธุรกิจจำหน่ายน้ำเย็นเพื่อปรับอากาศ (District Cooling Business) บนพื้นที่ที่มีศักยภาพ
  • ประยุกต์ใช้ความเชี่ยวชาญด้านพลังงานในการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและดำเนินโครงการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค
  • จ้างบุคลากรในพื้นที่การขยายธุรกิจ ให้ได้อย่างน้อย 20 คน/ โรงไฟฟ้า ภายในปี 2566 เพื่อส่งเสริมการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมด้านพลังงาน
  • คัดเลือกโครงการที่ได้รับรางวัล จากการประกวดนวัตกรรมในโครงการ GPSC Young Social Innovator (YSI) มาต่อยอดในการพัฒนาชุมชนในเชิงพาณิชย์ อย่างน้อย 1 โครงการ
11: 11.1, 11.6
แรงจูงใจและความเชื่อมโยงต่อธุรกิจ
เพื่อส่งเสริมให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและมีความปลอดภัย บริษัทฯ จึงได้วางแนวทางเพื่อการพัฒนาชุมชนและสังคมผ่านการดำเนินธุรกิจและกิจกรรมเพื่อสังคมให้สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละท้องถิ่นและความเชี่ยวชาญของบริษัทฯ ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 แนวทางหลัก ได้แก่ (1) สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน (2) พัฒนาคุณภาพชีวิต (3) อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และ (4) การศึกษา สอดคล้องกับเป้าหมายความยั่งยืนข้อ 11 ในการส่งเสริมให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความครอบคลุม ปลอดภัย มีภูมิต้านทานและยั่งยืน

แผนการดำเนินงาน

  • พัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้แก่โรงเรียน วัด และโรงพยาบาล แก่ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า
  • สนับสนุนด้านการศึกษาให้กับเยาวชนและสถานศึกษาทั้งในและนอกพื้นที่ปฏิบัติการ
  • สนับสนุนกิจกรรมและงานประเพณีต่างๆ ของชุมชน รวมถึงให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำแผนพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งภายในชุมชน
  • ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช) ร่วมพัฒนานวัตกรรมสำหรับสังคม เช่น สารเคลือบแผงวงจรพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบกรองน้ำสำหรับชุมชน และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
  • ดำเนินโครงการเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ที่อำเภอเขาชะเมา จังหวัดระยอง และอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน และศึกษาแนวทางร่วมกับวิทยาลัยเกษตรกรรมและเทคโนโลยีสระแก้ว
  • ดำเนินโครงการ ห้วยขาบ Smart Community ในพื้นที่ชุมชนบ้านห้วยขาบ อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นการสนับสนุนการประกอบอาชีพและสร้างรายได้ในถิ่นฐานของชุมชนชาวลั๊วะ ซึ่งเป็นชุมชนดั้งเดิมในพื้นที่ ทั้งในด้านเกษตรกรรม เทคโนโลยี และการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน
  • วางแผนศึกษาความเป็นไปได้ในการนำขยะมูลฝอยจากชุมชนรอบพื้นที่ปฏิบัติการมาใช้ประโยชน์ หรือนำไปรีไซเคิล

ประโยชน์ต่อบริษัท

  • ได้รับการยอมรับและสามารถอยู่ร่วมกันกับชุมชนและสังคมได้อย่างยั่งยืน
  • สร้างโอกาสทางธุรกิจ
  • สร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร
  • ผลสำรวจความพึงพอใจของชุมชนที่มีต่อการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาชุมชนในโครงการ Zero Waste Village เท่ากับร้อยละ 75
  • พนักงาน 30 คน หรือคิดเป็น 120 ชม. เข้าร่วมทำงานโครงการจิตอาสา
  • ไม่มีข้อร้องเรียนจากหน่วยงานภาครัฐ
  • มูลค่าทางการประชาสัมพันธ์ (PR Value) อยู่ที่ 1 ล้านบาท โดยประมาณจากการทำโครงการ CSR Smart Farming และ ห้วยขาบ Smart Community

ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

  • ส่งเสริมการเข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของชุมชน
  • นำขยะมูลฝอยไปกำจัดอย่างถูกหลักวิชาการ จำนวน 170,000 ตันต่อปี
  • ลงพื้นที่จัดทำโครงการ Zero Waste Village จำนวน 20 ครั้ง ส่งผลให้ชุมชนจัดการขยะดีขึ้น และสร้างรายได้แก่คนในชุมชนทั้ง 90,792 บาทต่อปี
  • โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับชุมชนในพื้นที่ห่างไกล (LBL) สามารถผลิตไฟฟ้าได้รวมกันทั้งสิ้น 351,388.8 หน่วยต่อปี (ติดตั้งระหว่างปี 2561-2564 ในกว่า 20 พื้นที่ทั่วประเทศ)
  • ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 11.106 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
  • ชุมชนในพื้นที่ดำเนินโครงการ Smart Farming ที่อ.เขาชะเมาและอ.บ่อเกลือ และโครงการห้วยขาบ Smart Community มากกว่า 130 คนได้เรียนรู้ มีองค์ความรู้เพิ่มเติมเรื่องการใช้นวัตกรรมในการประกอบอาชีพและสร้างรายได้

เป้าหมายการดำเนินงาน

  • ผลสำรวจความพึงพอใจของชุมชนที่มีต่อการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาชุมชนในโครงการ Zero Waste Village มากกว่าร้อยละ 75
  • พนักงาน 100 คนเข้าร่วมโครงการ Zero Waste Village
12: 12.2, 12.5
แรงจูงใจและความเชื่อมโยงต่อธุรกิจ
จีพีเอสซี ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่และชุมชนที่อยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้าของบริษัทฯ จึงได้ริ่เริมโครงการเพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและสร้างสมดุลในระบบนิเวศน์วิทยา อาทิ แผนการอนุรักษ์พลังงานของแต่ละโรงไฟฟ้า การนำน้ำเสียในโรงงานกลับมาใช้ใหม่ โครงการ “Zero Waste Village” ทีได้นำความรู้ด้านการบริหารจัดการของเสียแบ่งปันแก่ชุมชน สร้างกิจกรรมที่สนับสนุนการลดของเสีย และสร้างรายได้ให้แก่ 4 ชุมชน ได้แก่ (1) เทศบาลตำบลทับมา, (2) เทศบาลตำบลน้ำคอก, (3) เทศบาลตำบลมาบข่าพัฒนา, (4) องค์การบริหารส่วนตำบลหนองตะพาน ผ่านกิจกรรม 6 อย่าง ได้แก่ (1) ธนาคารขยะ (Waste Bank), (2) การรับบริจาคขยะเพื่อนำมาแปรรูป, (3) การประชุมเชิงปฏิบัติกับผู้นำในโรงเรียนเกี่ยวกับการจัดการของเสีย, (4) การสร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องการจัดการของเสีย, (5) ตลาดนัดธรรมชาติ (Green Market), (6) กิจกรรมที่เกี่ยวกับการจัดการของเสียอื่นๆ รวมถึงการส่งเสริมให้เกิดการลดของเสีย ซึ่งความมุ่งมั่นในส่วนนี้สอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนในข้อ 12 ในการส่งเสริมแผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน

แผนการดำเนินงาน

  • ดำเนินโครงการบริหารจัดการขยะครบวงจร (Waste to Energy) ในจังหวัดระยอง โดยแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวมแบบครบวงจร และโครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะซึ่งได้ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว
  • ดำเนินการตามแผนการอนุรักษ์พลังงานของบริษัทฯ
  • ดำเนินโครงการด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม อาทิ การจัดการของเสียตามหลัก 3Rs โครงการ Water Footprint การลดการใช้น้ำและพลังงานอย่างต่อเนื่อง
  • ปรับปรุงระบบการผลิตน้ำรีเวอร์ส ออสโมซิส (Reverse Osmosis: R.O.) และน้ำปราศจากไอออน
  • ลดการก่อกำเนิดของเสีย
  • พัฒนาแผนการประเมินความเสี่ยงด้านความยั่งยืน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และ บรรษัทภิบาล (ESG) ร่วมกับคู่ค้า
  • ดำเนินโครงการ Zero Waste Village
  • ลดผลกระทบเชิงลบด้านสิ่งแวดล้อมด้วยการส่งเสริมความรู้เรื่องการจัดการขยะชุมชนใน 4 ชุมชน รวมทั้งเปิดศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะชุมชนฯ เพื่อให้ประชาชนเข้ามาศึกษาดูงาน
  • จัดตั้งโครงการลดปริมาณขยะอินทรีย์ในชุมชน โดยนำไปผลิตเป็นสารปรับปรุงดิน
  • ดำเนินการนำของเสียจากโรงไฟฟ้าถ่านหินมาประยุกต์ใช้เป็นส่วนผสมของอิฐมวลเบาเพื่อการก่อสร้างอาคาร
  • ดำเนินโครงการติดตั้งระบบพ่นระอองน้ำดักจับฝุ่นที่เกิดจากการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงถ่านหิน
  • จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้การจัดการขยะแบบครบวงจร เพื่อเปลี่ยนขยะเป็นพลังงาน (Waste to Energy Learning Center)
  • ปรับปรุงพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
  • ลดการใช้น้ำดิบในกระบวนการผลิต โดยกระบวนการ 3Rs
  • วางแผนโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน จำนวน 42 โครงการ ตั้งแต่ปี 2564 ถึง 2572

ประโยชน์ต่อบริษัท

  • ลดความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และ บรรษัทภิบาลในการบริหารจัดการคู่ค้า
  • ลดการใช้ทรัพยากร ลดค่าใช้จ่าย และลดต้นทุนในกระบวนการผลิตและการจัดการของเสีย
  • ลดการใช้พลังงานและประหยัดค่าใช้จ่าย
  • เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการบริหารจัดการที่ดี
  • ลดปัญหาด้านข้อร้องเรียนและการละเมิดข้อบังคับทางกฎหมาย
  • ผลสำรวจความพึงพอใจชุมชนเท่ากับ ร้อยละ 75
  • มูลค่าทางการประชาสัมพันธ์ (PR Value) เท่ากับ 1 ล้านบาท โดยประมาณจากการทำโครงการ Zero Waste Village
  • พนักงานเข้าร่วมโครงการจำนวน 100 ชั่วโมง

ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

  • ส่งเสริมการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และ บรรษัทภิบาลของคู่ค้า
  • ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรและความยั่งยืน
  • สร้างความรู้ความเข้าใจในการจัดการขยะชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ
  • สร้างรายได้จากธนาคารขยะ เท่ากับ 6,400 บาท
  • นำขยะมูลฝอยชุมชนไปจัดการอย่างถูกหลักวิชาการ รวม 170,000 ตันต่อปี
  • ลดปริมาณการใช้น้ำดิบได้ 400,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี
  • ติดตั้งระบบหมุนเวียนน้ำเพื่อประหยัดการใช้น้ำในการฉีดพ่นสำหรับดักฝุ่น

เป้าหมายการดำเนินงาน

  • ลดการใช้ทรัพยากรให้สอดคล้องกับเป้าหมายของกลุ่มปตท. ภายใน ปี 2562-2566
  • ไม่มีของเสียส่งกำจัดในหลุมฝังกลบ
  • มีโครงการและกิจกรรมย่อยในพื้นที่ อาทิ ธนาคารขยะ กิจกรรมบริจาคขยะเพื่อสาธารณกุศล กิจกรรมการคัดแยกขยะพื้นฐาน และการจัดการขยะอินทรีย์ในครัวเรือน โครงการอบรมนักเรียน และครูแกนนำคัดแยกขยะในโรงเรียน โครงการแปรรูปขยะเพื่อเพิ่มมูลค่า โครงการตลาดสีเขียว เป็นต้น
  • สามารถลดปริมาณของเสียจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน 200,000 ตันต่อปี
  • สามารถลดปริมาณน้ำเสียได้อย่างน้อย 260,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี
  • ลดการใช้น้ำดิบได้ไม่ต่ำกว่า 400,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี
13: 13.2
แรงจูงใจและความเชื่อมโยงต่อธุรกิจ
สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงซึ่งกำลังเป็นประเด็นหลักในความสนใจของทั่วโลก เกิดความร่วมมือจากทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่จะพยายามลดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียสนั้น บริษัทฯ ในฐานะผู้ผลิตไฟฟ้ามุ่งมั่นที่จะเป็นกำลังสำคัญในการใช้พลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมการดำเนินธุรกิจ โดยความมุ่งมั่นนี้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนข้อที่ 13 คือ การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แผนการดำเนินงาน

  • เข้าร่วมโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก (Low Emission Support Scheme: LESS) โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) โครงการคาร์บอนฟุตพริ้นท์องค์กร (Carbon Footprint Organization: CFO)
  • กำหนดมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในบริษัทฯ
  • การรับรองโครงการ T- VER จากการดำเนินงาน ได้แก่ โครงการปรับปรุงอุปกรณ์และระบบควบคุมน้ำในหม้อไอน้ำแรงดันสูง โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าหน่วยที่ 3 (CFB3) โครงการผลิตเชื้อเพลิงขยะจากขยะมูลฝอยชุมชนที่จังหวัดระยอง โครงการการลดการใช้พลังงานไฟฟ้าด้วยการเปลี่ยนใบพัดระบบหล่อเย็น ที่ศูนย์ผลิตสาธารณูปการแห่งที่ 3 (CUP 3)
  • ดำเนินโครงการ G-infinite Power เพื่อบริหารสินทรัพย์เชิงบูรณาการภายในบริษัทฯ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ โดยสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้มากกว่า 71,431 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อตันการผลิตต่อปี
  • ดำเนินโครงการจัดซื้อจัดจ้างสีเขียวที่คัดเลือกเฉพาะกลุ่มคู่ค้าที่มีความใส่ใจสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • วิเคราะห์ความเสี่ยงและโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่กระทบต่อบริษัทฯ
  • วางแผนดำเนินโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานจำนวน 42 โครงการ ตั้งแต่ปี 2564 ถึง 2572 และคาดว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ทั้งสิ้น 1,240,929 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ประโยชน์ต่อบริษัท

  • ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและการมีระบบบริหารจัดการที่ดี
  • ลดต้นทุนและประหยัดค่าใช้จ่าย
  • ลดผลกระทบในระยะยาวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่มีต่อบริษัทฯ เช่น ภาวะน้ำแล้ง เป็นต้น
  • สามารถนำโครงการไปขึ้นทะเบียนเพื่อสร้างรายได้จากการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต
  • รับทราบถึงค่าเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ และการเปลี่ยนผ่านด้านโยบายและเศรษฐกิจส่งผลให้บริษัทฯ จัดทำแผนรับมือได้อย่างเหมาะสม
  • ประหยัดค่าใช้จ่ายจากโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน เท่ากับ 1,660,422,082 บาท
  • สร้างคาร์บอนเครดิต รวม 3,028,774 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

  • ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 432,682 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าจากโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในพื้นที่ปฏิบัติการ
  • ลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ

เป้าหมายการดำเนินงาน

  • จัดตั้งเป้าหมายระยะยาวด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้สอดคล้องกับกลุ่ม ปตท.
  • สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากโครงการ LESS และ T-VER ขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.)
  • จัดตั้งเป้าหมายระยะยาว ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ตามนโยบายของประเทศ
16: 16.5, 16.6
แรงจูงใจและความเชื่อมโยงต่อธุรกิจ
การกำกับดูแลอย่างยุติธรรมและโปร่งใสเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัทฯ จึงให้ความสำคัญต่อการกำกับดูแลองค์กรอย่างยุติธรรมและโปร่งใสตามหลักบรรษัทภิบาลที่ดี ส่งเสริมหลักสิทธิมนุษยชน ต่อต้านการคอร์รัปชันและการทุจริตในทุกรูปแบบ โดยความมุ่งมั่นนี้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนข้อง 16 คือ สังคมสงบสุข ยุติธรรม และไม่แบ่งแยก

แผนการดำเนินงาน

  • เพิ่มความตระหนัก เรื่องการกำกับดูแลกิจการที่ดีอย่างมีจริยธรรมและโปร่งใส โดยการสร้างความตระหนักรู้ผ่านกิจกรรมต่างๆ อาทิ การอบรมเนื้อหาเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดีและ จริยธรรมในการดำเนินธุรกิจผ่านช่องทางออนไลน์ การปฐมนิเทศพนักงาน การจัดกิจกรรม PTT Group CG day และ QSHE & KM Day เป็นต้น
  • เข้าร่วมการประเมินเพื่อเป็นสมาชิกแนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC)
  • จัดอบรมด้านสิทธิมนุษยชนแก่พนักงาน และประเมินความเสี่ยงให้ครอบคลุมทุกหน่วยงาน ในห่วงโซ่คุณค่า
  • ปรับปรุงนโยบายที่เกี่ยวข้องและเพิ่มช่องทางรับข้อร้องเรียน
  • ปรับใช้กรอบการดำเนินงานที่ครอบคลุมด้านสิทธิมนุษยชน ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน
  • พัฒนาหลักจริยธรรมด้านการกำกับดูแลกิจการที่ดี

ประโยชน์ต่อบริษัท

  • มีความโปร่งใสในการดำเนินธุรกิจ และรายงานเหตุการณ์ผลประโยชน์ทับซ้อนภายในบริษัทฯ
  • ลดความเสี่ยงด้านคอร์รัปชันและการทุจริตในทุกรูปแบบ
  • ส่งเสริมการปฏิบัติอย่างถูกหลักจริยธรรมและการกำกับดูแลกิจการที่ดี
  • ลดความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนในองค์กร
  • พนักงาน และกลุ่มคู่ค้า ร้อยละ 100 ลงนามรับทราบข้อกำหนดจรรยาบรรณทางธุรกิจ
  • ไม่พบปัญหาการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลภายในองค์กร

ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

  • ลดปัญหาด้านคอร์รัปชันและการทุจริต และมีบุคลากรเป็นแบบอย่างที่ดีในสังคม
  • ปลูกฝังจิตสำนึกเรื่องการทุจริตและเคารพสิทธิมนุษยชนผ่านการอบรมประจำปีที่บริษัทฯ จัดขึ้น
  • ร้อยละ 10 ของพนักงานเข้าร่วมการอบรมด้านสิทธิมุนษยชน

เป้าหมายการดำเนินงาน

  • ผู้ตอบแบบทดสอบความเข้าใจเกี่ยวกับจรรยาบรรณในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ได้รับคะแนนเฉลี่ย มากกว่าร้อยละ 80
  • รายงานผลประโยชน์ที่ทับซ้อนของผู้บริหาร ร้อยละ 100
  • รักษาสถานภาพการเป็นสมาชิก แนวร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคเอกชนไทย (CAC)
  • ได้รับการประเมินในระดับดีเลิศ (5 ดาว) โครงการสำรวจการกำกับดูแลกิจการบริษัทจดทะเบียน
  • ประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน ครอบคลุมทุกพื้นที่การดำเนินงานร้อยละ 100