GPSC ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2556 เกิดจากการ ควบรวมกิจการระหว่าง 2 บริษัทในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ของกลุ่ม ปตท. คือ บริษัท พีทีที ยูทิลิตี้ จำกัด (PTTUT) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าอิสระ (ประเทศไทย) จำกัด (IPT) เพื่อเป็นแกนนำในการ ดำเนินธุรกิจไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. (PTT Group’s Power Flagship) ในการพัฒนา ลงทุน และดำเนินการด้านธุรกิจไฟฟ้าทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

หลังจากนั้น GPSC ได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2557 โดยมีผู้ถือหุ้น 4 รายได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ 30.1 บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ 30.3 บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ 11.9 และบริษัท ไทยออยล์ เพาเวอร์ จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 27.7 ทำให้ GPSC มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการลงทุน และการพัฒนาโครงการต่างๆ ตามแผนธุรกิจที่ได้วางไว้ ดังนี้

บริษัทฯ มีโครงการที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้ว จำนวน 5 บริษัท ได้แก่ RPCL, CHPP, BIC (Phase1), IRPC-CP (Phase1) และ TSR

บริษัทฯ มีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง จำนวน 6 บริษัท ได้แก่ NNEG, BIC (Phase2), IRPC-CP (Phase2), NSC (XPCL), NL1PC และ ISP นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างอีก 1 โครงการ คือ โรงผลิตสาธารณูปการแห่งที่ 4 (CUP-4) จังหวัดระยอง

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2558 GPSC ได้เข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยด้วยทุนจดทะเบียน 14,983,008,000 บาท ประกอบด้วยหุ้นสามัญ 1,498,300,800 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท โดยโครงสร้างการถือหุ้นของ GPSC หลังการจดทะเบียน คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ 22.58 บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ 22.73 บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ 8.91 บริษัท ไทยออยล์ เพาเวอร์ จำกัด ถือหุ้นร้อยละ 20.79 และหุ้นที่เสนอขายให้ประชาชนทั่วไป ร้อยละ 25

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2563 คณะกรรมการของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้มีมติอนุมัติให้มีการซื้อหุ้นบริษัทฯ และปรับโครงสร้างการถือหุ้นในธุรกิจไฟฟ้าของ ปตท. เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ โดย ปตท. เข้าซื้อหุ้นของบริษัทฯ ในส่วนที่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ถือหุ้นอยู่ทั้งหมดจำนวนร้อยละ 8.9 เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2563 ส่งผลให้ ปตท. มีสัดส่วนการถือหุ้นบริษัทฯ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 31.7 และภายหลังการดำเนินการปรับโครงสร้างการถือหุ้นดังกล่าวทั้งหมดแล้วเสร็จ จะทำให้ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) มีสัดส่วนการถือหุ้นบริษัทฯ ร้อยละ 20.8 ซึ่งคาดว่ากระบวนการดังกล่าวจะเสร็จสิ้นภายในปี 2564 ดังภาพ

ในวันที่ 22 เมษายน 2564 คณะกรรมการของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้มีมติอนุมัติให้ ปตท. และบริษัท สยาม แมนเนจเม้นท์โฮลดิ้ง จำกัด (SMH) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท. ซื้อหุ้นสามัญ GPSC จาก GC จำนวน 358,936,756 หุ้น หรือคิดเป็นร้อยละ 12.73 ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของ GPSC ซึ่งการโอนหุ้นได้ดำเนินการแล้วเสร็จในวันที่ 8 มิถุนายน 2564 และภายหลังธุรกรรมการปรับโครงสร้างฯ ดังกล่าว ปตท. และ SMH จะถือหุ้น GPSC ในสัดส่วนรวม ร้อยละ 44.45 และ GC จะถือหุ้น GPSC ในสัดส่วนร้อยละ 10 ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมด ดังภาพ

สรุปลำดับเหตุการณ์สำคัญของ GPSC

2565
ธันวาคม

บริษัทฯ ได้ดำเนินการจัดตั้งบริษัทย่อย รวมทั้งสิ้น 5 บริษัท เพื่อเข้าร่วมยื่นคำเสนอขายไฟฟ้าตามประกาศคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้แก่ บริษัท เฮลิออส 1 จํากัด (“Helios 1”) บริษัท เฮลิออส 2 จำกัด (“Helios 2”) บริษัท เฮลิออส 3 จำกัด (“Helios 3”) บริษัท เฮลิออส 4 จำกัด (“Helios 4”) บริษัท เฮลิออส 5 จํากัด (“Helios 5”) โดยบริษัทฯ ถือหุ่นในสัดส่วนร้อยละ 50

พฤศจิกายน

บริษัทฯ อนุมัติการจัดตั้งบริษัท เอ็นวี โกชั่น จํากัด (“NV Gotion”) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่ NUOVO PLUS เป็นผู้ถือหุ้นร้อยละ 51 ร่วมกับ Gotion Singapore Pte. Ltd. (“Gotion”) โดยจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินธุรกิจนำเข้า ประกอบ และจัดจำหน่ายโมดูลแบตเตอรี่ และชุดแบตเตอรี่สำหรับระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) พร้อมส่งมอบแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนคุณภาพสูงสู่ตลาดภายในปี 2566 ด้วยกําลังการผลิตเริ่มต้น 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ต่อปี

บริษัทฯ ได้ทำการลงนามสัญญาร่วมทุนในการพัฒนาโครงการพลังงานลม (Joint Venture Agreement) กับกลุ่ม Copenhagen Infrastructure Partners (“CIP”) ผ่านกองทุน CI NMF I Cooperatief U.A. (“CI NMF I”) เพื่อศึกษาโอกาสการลงทุนในพลังงานลม และจัดตั้งบริษัทร่วมทุนในการดําเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานลม ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้ประกาศเชิญชวนรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหม่นเวียนในรูปแบบ Feed-inTariff (FiT) ปี 2565-2573 สําหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 โดยบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 51

กันยายน

บริษัทฯ อนุมัติการชําระบัญชีและปิดกิจการของบริษัทย่อยของบริษัทฯ จํานวน 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท GPSC International Holdings Limited (“GPSCIH”) ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 100 และ บริษัท โกลว์ เอ็นเนอร์จี เมียนมา จํากัด (“GE Myanmar”) ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ่นทางตรงและทางอ้อมในสัดส่วนร้อยละ 99.83 ผ่านบริษัท โกลว์ จํากัด

สิงหาคม

บริษัทฯ ได้ดําเนินการจัดตั้งบริษัทย่อย รวมทั้งสิ้น 2 บริษัท เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และรองรับ แผนการขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย ได้แก่ บริษัท ยูรัสพลัส จํากัด (“EurusPlus”) และบริษัท โบรีพลัส จํากัด (“BoreePlus”)

พฤษภาคม

บริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ได้เข้าถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 30 จะดำเนินการลงทุนขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าประมาณ 30 เมกะวัตต์และไอน้ำประมาณ 5 ตันต่อชั่วโมง โดยใช้วงเงินลงทุนประมาณ 1,724 ล้านบาท (โดยเป็นส่วนของเงินกู้ประมาณร้อยละ 70 และส่วนของผู้ถือหุ้น ประมาณร้อยละ 30) ซึ่งโครงการขยายกำลังการผลิตดังกล่าวมีแผนจะเริ่มก่อสร้างในเดือนมิถุนายน 2566 คาดว่าจะแล้วเสร็จและเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ได้ประมาณเดือนธันวาคม 2567 ทั้งนี้ ภายหลังดำเนินการแล้วเสร็จบริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด จะมีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าสุทธิรวมประมาณ 215 เมกะวัตต์ และขนาดกำลังการผลิตไอน้ำรวมประมาณ 45 ตันต่อชั่วโมง

กุมภาพันธ์

บริษัทฯ ได้ดำเนินการลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้นทั้งหมดจำนวนร้อยละ 100 ที่บริษัทฯ ถือครองอยู่ในบริษัท อิจิโนเซกิ โซล่า พาวเวอร์ 1 จีเค (Ichinoseki Solar Power 1 GK หรือ ISP1) ให้กับบริษัท CES Iwate Taiyoko Hatsudensho 1 GK คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,860 ล้านเยน (เทียบเท่าประมาณ 1,119 ล้านบาท)

บริษัทฯ ดำเนินการโอนสินทรัพย์ที่เกี่ยวกับธุรกิจแบตเตอรี่ซึ่งปัจจุบันดำเนินการโดยกลุ่มบริษัทฯ ให้แก่ NUOVO PLUS ได้แก่ 1) ทรัพย์สิน ค่าใช้จ่าย สัญญา และข้อตกลงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน 2) หุ้นสามัญร้อยละ 100 ในบริษัท GPSC-SG Holding Company ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ ซึ่งถือหุ้นร้อยละ 11.1 ในบริษัท Anhui Axxiva New Energy Technology Co., Ltd. สาธารณรัฐประชาชนจีน

มกราคม

บริษัทฯ ร่วมทุนกับ บริษัท อรุณพลัส จำกัด (“ARUN PLUS”) และจัดตั้งบริษัท นูออโว พลัส จำกัด (“NUOVO PLUS”) ขึ้น เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และสนับสนุนการลงทุนในห่วงโซ่ธุรกิจแบตเตอรี่ (Battery Value Chain) ด้วยทุนจดทะเบียน 4,200 ล้านบาท และมีทุนชำระเริ่มแรก 1,050 ล้านบาท โดยบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 49

2564
ตุลาคม

บริษัทฯ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ 5 ฝ่าย ซึ่งประกอบด้วย GPSC, บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (TGO) และบริษัท นีโอคลีน เอ็นเนอยี่ จำกัด (NEO) เพื่อดำเนินโครงการสนับสนุนการลงทุน ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) และการขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิตภายใต้โครงการ Solar Orchestra ที่จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเข้ามาลงทุน Solar Rooftop แล้วขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศไทย หรือ “โครงการ T-VER” และรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ที่เรียกว่า “คาร์บอนเครดิต” และสามารถนำคาร์บอนเครดิตไปแลกเปลี่ยน ซื้อขายได้ โดยตั้งเป้าหมายการติดตั้ง Solar Rooftop กว่า 100 เมกะวัตต์ ภายในสิ้นเดือน ธันวาคม 2565

บริษัทฯ ได้ดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทย่อยในไต้หวันผ่านบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล ซินเนอร์ยี่ จำกัด หรือ GRSC ได้แก่ บริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล ซินเนอร์ยี่ ไต้หวัน จำกัด หรือ GRSC TW โดย GRSC ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 100

กรกฎาคม

บริษัทฯ โดยผ่านทาง บริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล ซินเนอร์ยี่ จำกัด (GRSC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้นร้อยละ 100 ได้บรรลุข้อตกลงในการเข้าลงทุนใน Avaada Energy Private Limited (Avaada) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศอินเดีย โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 14,825 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนการลงทุนประมาณร้อยละ 41.6 ของทุน ทั้งหมด ปัจจุบัน Avaada มีกำลังการผลิตไฟฟ้า (Committed capacity) รวมทั้งสิ้น 4,608 เมกะวัตต์ ซึ่งประกอบด้วยโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วประมาณ 2,205 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างจำนวนประมาณ 2,403 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอยเปิดดำเนินการ เชิงพาณิชย์ภายในปี 2565–2566 และมีเป้าหมายการเติบโตถึง 11,000 เมกะวัตต์ ในปี 2568 การลงทุนครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการขยายพอร์ตพลังงานหมุนเวียน ตามเป้าหมายพลังงานหมุนเวียน 8,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573

บริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล ซินเนอร์ยี่ จำกัด (GRSC) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้นร้อยละ 100 ได้ลงนามสัญญาร่วมทุนกับบริษัท Copenhagen Infrastructure Partners (CIP) ในนามของกองทุน Copenhagen Infrastructure II K/S (CI-II) และ Copenhagen Infrastructure III K/S (CI-III) เพื่อร่วมมือในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง Changfang and Xidao ในไต้หวัน มีกำลังการผลิตรวม 595 เมกะวัตต์ คาดว่าโครงการจะเปิดดำเนินการ เชิงพาณิชย์ได้ทั้งหมดภายในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมจนโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อมา บริษัทฯ ได้จัดตั้ง บริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล ซินเนอร์ยี่ ไต้หวัน จำกัด หรือ GRSC TW เพื่อจะเข้าถือหุ้นร้อยละ 25 ในโครงการ Changfang and Xidao ดังกล่าว โดยคาดว่าการดำเนินการตามเงื่อนไขบังคับก่อนจะแล้วเสร็จและสามารถดำเนินการโอนหุ้นได้ภายในปี 2565

บริษัทฯ ได้จัดทำพิธีเปิดโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน G-Cell โดยใช้เทคโนโลยี SemiSolid แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia) ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 30 MWh (เมกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี ภายใต้นวัตกรรมการผลิตแบตเตอรี่ SemiSolid ของบริษัท 24M Technologies Incorporation หรือ 24M จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งบริษัทฯ ได้รับสิทธิ License ในการดำเนินการผลิตและจัดจำหน่าย โดยโรงงานตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง นอกจากนี้ ยังสามารถขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 100 MWh ต่อปี และก้าวสู่โรงงานผลิตเชิงพาณิชย์ขนาดเริ่มต้น 1 GWh (กิกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี ซึ่งบริษัทฯ อยู่ระหว่างการศึกษาและพิจารณาแผนการลงทุนในช่วงต่อไป

มิถุนายน

บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GC) ได้ดำเนินการขายหุ้นสามัญของบริษัทฯ ให้แก่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) และบริษัท สยาม แมเนจเม้นท์ โฮลดิ้ง จำกัด (SMH) รวมคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.73 เสร็จสิ้น ทำให้ในปัจจุบัน ปตท. และ SMH ถือหุ้น GPSC ใน สัดส่วนร้อยละ 42.54 และ 1.91 ตามลำดับ และ GC ถือหุ้น GPSC ในสัดส่วนร้อยละ 10.00 ของหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด

บริษัทฯ ได้ดำเนินการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทย่อยในประเทศไทย ได้แก่ บริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล ซินเนอร์ยี่ จำกัด (GRSC) โดยบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 100 เพื่อสนับสนุนการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ

คณะกรรมการของบริษัทฯ ในการประชุมครั้งที่ 8/2564 ได้มีมติอนุมัติให้บริษัท จีพีเอสซี ศูนย์บริหารเงิน จำกัด (GPSC TC) เข้าทำสัญญากู้ยืมเงินกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT และ/หรือ บริษัท ปตท. ศูนย์บริหารเงิน จำกัด (PTT TCC) ในรูปแบบเงินกู้ระยะยาวจากผู้ถือหุ้นในวงเงินไม่เกิน 20,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนทางการเงินสำหรับการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ โดยมีอายุสัญญาไม่เกิน 3 ปี อัตราดอกเบี้ย เทียบเคียงกับตลาด (Market rate) ซึ่งไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี

พฤษภาคม

บริษัทฯ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับบริษัท Electrify Pte. Ltd. หรือ Electrify (อิเล็คทริฟาย) ในการพัฒนาและติดตั้งแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานแบบ Peer-to-Peer บนระบบคลาวด์ (Cloud) ในประเทศไทย โดยติดตั้งแพลตฟอร์มร่วมกับโซลูชั่น นวัตกรรมพลังงานของ GPSC ผ่านการดำเนินการของบริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) (บริษัทย่อยที่ GPSC ถือหุ้น 100%) เพื่อให้ลูกค้าในกลุ่มผู้นำเทรนด์เทคโนโลยีพลังงานนำไปใช้งานในพื้นที่นำร่องต่างๆ ซึ่งจะเป็นโครงการต้นแบบต่อยอดนวัตกรรมพลังงานแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Energy) การผลิตไฟฟ้าพลังงานจากแสงอาทิตย์และระบบกักเก็บพลังงานจากแบตเตอรี่ พร้อมขยายผลไปสู่พื้นที่ศักยภาพอื่นในอนาคต

บริษัทฯ โดยผ่านทาง บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) ได้ร่วมกับพันธมิตรในการพัฒนานวัตกรรมพลังงานสะอาด G-Float ที่ได้มีการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ในรูปแบบ New Normal เป็นครั้งแรกของไทย เป็นนวัตกรรมทุ่นโซลาร์ลอยน้ำ (Floating Solar) ที่พร้อมดำเนินการในเชิงพาณิชย์ เพื่อใช้สำหรับระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ (Floating PV System) ป้อนสู่กลุ่มลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม ลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ โดยได้ถูกนำไปใช้แล้วในโครงการที่ประสบความสำเร็จมาแล้วต่างๆ ก่อนหน้านี้ เช่น โครงการเมืองอัจฉริยะให้กับสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) การติดตั้งโซลาร์บนหลังคาและโซลาร์ลอยน้ำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (อยู่ระหว่างการดำเนินการ) โดยการผสานนวัตกรรมพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ทั้ง BESS, Peer-to-Peer Energy Trading และ AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต รวมถึงโครงการความร่วมมือกับ กลุ่ม ปตท. ในการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดลอยน้ำทะเล (Floating Solar on sea) ขนาด 100 กิโลวัตต์ ในพื้นที่ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT Tank) ในจังหวัดระยอง เป็นต้น

โครงการโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง RDF กำลังการผลิตไฟฟ้า 9.8 เมกะวัตต์ และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ได้เริ่มดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการบริหารจัดการขยะครบวงจร (Rayong Waste to Energy) ของบริษัทฯ

บริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ วัน จำกัด หรือ GRP1 ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทางอ้อมที่ บริษัทฯ ถือหุ้นร่วมกับบริษัท ปตท. โกลบอล แมนเนจเม้นท์ จำกัด หรือ PTTGM ในสัดส่วน 50:50 ได้บรรลุผลสำเร็จครบถ้วนตามเงื่อนไขบังคับก่อนของสัญญาซื้อขายหุ้นจำนวน ร้อยละ 90 ของหุ้นทั้งหมดใน Sheng Yang Energy Co., Ltd. หรือ Sheng Yang แล้ว โดยมีมูลค่าซื้อขายรวมทั้งสิ้นประมาณ 2,560 ล้านบาท

เมษายน

บริษัทฯ ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ 9 บริษัท ในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อพัฒนาต้นแบบชุดแบตเตอรี่ และระบบสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping System) ที่นำเทคโนโลยี SemiSolid ของ GPSC หรือ G-Cell มาพัฒนาต่อยอดเพื่อติดตั้งในยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ (BEV) ประเภทจักรยานยนต์ไฟฟ้า รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า และรถยนต์ไฟฟ้า ในการเพิ่มประสิทธิภาพทั้งด้านความปลอดภัย การระบายความร้อน และการลดเวลาการอัด ประจุไฟฟ้ารวมถึงเป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาอำนวยความสะดวกในการให้บริการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ไฟฟ้าในสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าในอนาคต

มีนาคม

บริษัทฯ ได้ร่วมกับบริษัท สวอพ แอนด์ โก จำกัด (Swap & Go) ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการศึกษาและพัฒนาต่อยอดการใช้งาน SemiSolid lithium-ion battery หรือแบตเตอรี่ G-Cell ซึ่งจะเริ่มดำเนินการผลิตภายในไตรมาส 2 ปี 2564 จากโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน GPSC ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง สำหรับใช้งานกับรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบบสลับเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ (Battery Swapping) โดยไม่ต้องรอชาร์จ

กุมภาพันธ์

บริษัทฯ ได้รับการประเมินให้เป็นธุรกิจที่มีความโดดเด่นในการดำเนินงานด้านความยั่งยืน และบรรจุในรายชื่อของ “Sustainability Yearbook 2021” ด้วยคะแนนสูงสุดเป็นอันดับที่ 2 ในกลุ่มอุตสาหกรรมสาธารณูปโภคไฟฟ้า (Electric Utilities) ของประเทศไทย จาก S&P Global ที่บริษัทฯ ได้เข้าร่วมการประเมินดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) เป็นปีแรก

บริษัทฯ ได้ร่วมกับบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ในการเปิดตัว โครงการ G-Box ระบบกักเก็บพลังงานผ่านแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System หรือ BESS) ขนาด 150 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ที่จะพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ G-Cell ซึ่งใช้เทคโนโลยี SemiSolid ในอนาคตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านบริหารจัดการพลังงานร่วมกับ สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Station) นำร่องติดตั้งที่สถานีบริการน้ำมัน PTT Station สาขาหนองแขมเป็นแห่งแรก ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมพลังงานที่มีส่วนสำคัญในการเพิ่มเสถียรภาพการใช้ไฟฟ้า ทั้งในด้านการลดต้นทุนค่าพลังงาน และป้องกันไฟฟ้าตกหรือดับได้อย่างมีประสิทธิภาพ

มกราคม

บริษัทฯ ได้มีการปรับโครงสร้างการถือหุ้นของบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด (GRP) โดยได้ขายหุ้น GRP ในสัดส่วนร้อยละ 50 ให้กับบริษัท ปตท. โกลบอล แมนเนจเม้นท์ จำกัด (PTTGM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2564 ส่งผลให้บริษัทฯ รับรู้ผลประกอบการจาก GRP เป็นส่วนแบ่งกำไรจากเงิน ลงทุนในบริษัทร่วม

คณะกรรมการของบริษัทฯ ครั้งที่ 1/2564 ได้มีมติอนุมัติให้จัดตั้งบริษัทย่อยเพื่อดำเนินการเข้าลงทุนในบริษัท Anhui Axxiva New Energy Technology Co., Ltd. (AXXIVA) สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจโรงงานผลิตแบตเตอรี่ โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตจาก 24M Technologies Inc. (24M) โดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 500 ล้านบาท คิดเป็นการลงทุนในสัดส่วนประมาณร้อยละ 11.1 ของ Equity Interest ทั้งหมดของ AXXIVA โดยเป้าหมายการเข้าระดมทุนของ AXXIVA ในครั้งนี้ เพื่อใช้ในการลงทุนก่อสร้างโรงงานแบตเตอรี่ SemiSolid ระยะที่ 1 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน มีกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมง (GWh) ต่อปี เพื่อป้อนให้กับกลุ่มลูกค้าหลักในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของสาธารณรัฐประชาชนจีน เช่น Chery New Energy Automobile ต่อมา บริษัทฯ ได้ดำเนินการจดทะเบียน จัดตั้งบริษัทย่อย ได้แก่ GPSC Singapore Pte. Ltd. ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 โดยบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 100 เพื่อลงทุนโดยการเพิ่มทุนใน AXXIVA ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ดังกล่าวข้างต้น

2563
ธันวาคม

บริษัทฯ เปิดตัวแบตเตอรี่ G-Cell ที่ใช้เทคโนโลยี SemiSolid เซลล์แรกของประเทศไทย จากโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงาน (Energy Storage Unit) จังหวัดระยอง โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมดำเนินการผลิต (Start of Regular Production) ภายในไตรมาส 2 ปี 2564

พฤศจิกายน

บริษัทฯ ได้จัดตั้งบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ วัน จำกัด (GRP1) เพื่อใช้รองรับแผนการขยาย การลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของบริษัทฯ ในไต้หวัน ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 55.8 เมกะวัตต์

คณะกรรมการบริษัท ปตท. อนุมัติการซื้อหุ้น GRP (บริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้น 100%) จากบริษัทฯ จำนวนประมาณ 4.655 ล้านหุ้น คิดเป็น 50% ของทุนจดทะเบียน โดยดำเนินการผ่านบริษัทย่อยของ ปตท. คือ บริษัท ปตท. โกลบอล แมนเนจเม้นท์ จำกัด (PTTGM) โดยมีมูลค่ารายการรวมทั้งสิ้นประมาณ 693 ล้านบาท การร่วมทุนดังกล่าวเป็นอีกก้าวของการยกระดับความร่วมมือตามกลยุทธ์ Powering Thailand’s Transformation ซึ่งมุ่งเน้นให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสีย และเชื่อมโยงการทำงานระหว่างบริษัทในกลุ่ม ปตท. รวมถึงสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ของกลุ่ม ปตท. ในการเป็นผู้นำในด้านธุรกิจพลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานสะอาด เพื่อให้กลุ่ม ปตท. บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 8,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573

ตุลาคม

โครงการส่วนขยายของ NNEG ในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วน ร้อยละ 30 ได้เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าส่วนเพิ่มประมาณ 60 เมกะวัตต์ และ ไอน้ำประมาณ 10 ตันต่อชั่วโมง ส่งผลให้ NNEG มีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าสุทธิรวมประมาณ 185 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตไอน้ำรวมประมาณ 40 ตันต่อชั่วโมง

กันยายน

บริษัทฯ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับบริษัท รถไฟฟ้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ EVT ในโครงการพัฒนารถบัสไฟฟ้าต้นแบบโดยใช้ชุดแบตเตอรี่ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยี SemiSolid และ ทดลองเดินรถเพื่อทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของชุดแบตเตอรี่กับการใช้งานร่วมกับรถบัสไฟฟ้าต้นแบบ

บริษัทฯ ได้ดำเนินการผ่าน CHPP เข้าร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับมหาวิทยาลัย เทคโนโลยีสุรนารี เพื่อผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังผลิตรวมประมาณ 6 เมกะวัตต์ และเพื่อสร้าง “Low carbon university” ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคให้กับมหาวิทยาลัยฯ ผ่านสัญญา ซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบเอกชนกับเอกชน (Private PPA) อีกทั้งเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้นวัตกรรมด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้แก่บุคลากร นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจ โดยใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ 150 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าได้ในปี 2565 เป็นต้นไป

สิงหาคม

บริษัทฯ เสนอขายหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งเเวดล้อม (Green Debenture) ชนิดระบุชื่อผู้ถือหุ้น ประเภทไม่ด้อยสิทธิ และไม่มีหลักประกันให้กับผู้ลงทุนกลุ่มสถาบัน และนักลงทุนรายใหญ่ มูลค่าเสนอขายรวม 5,000 ล้านบาท เพื่่อนำไปใช้ในโครงการพลังงานหมุุนเวียน ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และโครงการบริหารจัดการขยะครบวงจร (Waste to Energy) โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีและได้รับความเชื่อมั่นจากนักลงทุุน โดยมียอดจองซื้อหุ้นกู้เกินกว่า 30,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6 เท่าจากมูลค่าที่เสนอขาย

กรกฎาคม

บริษัท ระยอง คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นผ่านบริษัท อีสเทิร์นซีบอร์ด คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ได้ชำระบัญชีแล้ว

มิถุนายน

บริษัท โกลว์ เหมราช วินด์ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นผ่านบริษัท อีสเทิร์นซีบอร์ด คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ได้ชำระบัญชีแล้ว

เมษายน

บริษัทฯ เริ่มใช้โครงสร้างองค์กรใหม่ ภายหลังการควบรวมโกลว์ฯ ภายใต้การบริหารงานที่เป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนธุรกิจ บูรณาการระบบปฎิบัติการและบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

มีนาคม

บริษัทฯ ได้เริ่มดำเนินโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ต้นแบบด้วยเทคโนโลยี SemiSolid แห่งแรกของประเทศไทย บนพื้นที่ 12 ไร่ ภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุต อำเภอเมือง จังหวัดระยอง ด้วยมูลค่า โครงการกว่า 1,100 ล้านบาท

บริษัทฯ ได้บรรลุความสำเร็จการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์ฟาร์ม) ในสัดส่วน ร้อยละ 100 ใน 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท เอ็น.พี.เอส. สตาร์กรุ๊ป จำกัด , บริษัท เวิลด์ เอ็กเชนจ์ เอเชีย จำกัด, บริษัท พี.พี. โซล่า จำกัด และ บริษัท เทอร์ร่าฟอร์ม โกลบอล โอเปอเรติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งได้พัฒนาโซลาร์ฟาร์มรวม 9 โครงการ กำลังผลิตรวมทั้งสิ้น 39.5 เมกะวัตต์ โดยได้ดำเนินการเข้าซื้อผ่านบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด (GRP)

มกราคม

บริษัทฯ โดยความร่วมมือกับ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ได้เปิดใช้งาน ระบบกักเก็บพลังงานอัจฉริยะ หรือ Smart Energy Storage System (ESS) ขนาด 1.5 MWh ซึ่งเป็น ระบบการสำรองไฟฟ้าสำหรับภาคอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เพื่อเพิ่มความมั่นคงและ ประสิทธิภาพของระบบไฟฟ้าที่จำหน่ายไฟฟ้าให้แก่อาคารสำนักงานและศูนย์นวัตกรรมและเทคโนโลยีของ GC ในจังหวัดระยอง

บริษัท จีพีเอสซี ศูนย์บริหารเงิน จํากัด (GPSC Treasury Center: GPSCTC) ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท กับกระทรวงพาณิชย์ โดยบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 100 และมีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 20 ล้านบาท

2562
ธันวาคม

บริษัทฯ ได้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ที่เหลือทั้งหมดของโกลว์ เพื่อเพิกถอนหลักทรัพย์ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สิ้นสุดเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2562 และได้ทำการเพิกถอนหลักทรัพย์ของโกลว์ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2562 ทั้งนี้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 บริษัทฯ ถือหุ้นของโกลว์ทั้งหมดจำนวน 1,460,360,024 หุ้น หรือร้อยละ 99.83 ของหุ้นที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกิจการ

คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ดำเนินการเพิกถอนหุ้นสามัญของโกลว์ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2562 เป็นต้นไป

พฤศจิกายน

บริษัท ชลบุรี คลีน เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (CCE) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินงานโรงไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ชลบุรี 1 โดยมีกำลังการผลิต (Gross Capacity) รวม 8.6 เมกะวัตต์โดย CCE เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง โกลว์ ไอพีพี 3 และ WHA Energy และ Suez (South East Asia) โดยโกลว์เข้าถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 33 คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนประมาณ 2.8 เมกะวัตต์ได้เริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว

บริษัทฯ ดำเนินแผนการออกและเสนอขายหุ้นกู้ของบริษัทฯ จำนวน 6 ชุด รวมมูลค่า 35,000 ล้านบาท ให้กับนักลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่ ที่อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยร้อยละ 2.80 ต่อปี โดยได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในการออกหุ้นกู้ที่ระดับ AA- จากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด (TRIS) โดยเงินที่ได้รับจากการขายหุ้นกู้จะนำมาชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้นจากการเข้าซื้อกิจการของโกลว์ ซึ่งเป็นไปตามแผนการปรับโครงสร้างทางการเงินของบริษัทฯ

ตุลาคม

บริษัทฯ ดำเนินแผนการเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ จำนวน 74,000 ล้านบาท แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2562 โดยบริษัทฯ ได้จัดสรรหุ้นสามัญดังกล่าวจำนวน 1,321,428,567 หุ้น ราคาหุ้นละ 56 บาท ส่งผลให้ปัจจุบันบริษัทฯ มีจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมด 2,819,729,367 หุ้น และได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงทุนจดทะเบียนเป็นจำนวนทั้งสิ้น 28,197,293,710 บาท

บริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด (XPCL) ซึ่งเป็นผู้ดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำไซยะบุรี ตั้งอยู่ในแขวงไซยะบุรี สปป.ลาว มีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 1,285 เมกะวัตต์ โดยจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รวม 1,220 เมกะวัตต์ และจำหน่ายไฟฟ้าให้กับ EDL รวม 60 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทฯ ได้เข้าถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 25 คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการลงทุนของบริษัทฯ ประมาณ 321 เมกะวัตต์ ซึ่งมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า กับ กฟผ. เป็นระยะเวลา 29 ปี ได้เริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว

กันยายน

โครงการศูนย์ผลิตสาธารณูปการระยองส่วนขยาย หรือโรงผลิตสาธารณูปการระยองแห่งที่ 4 (Central Utility Plant 4: CUP-4) เป็นประเภทโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่น (Cogeneration) และหน่วยผลิตไอน้ำที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย จังหวัดระยอง ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทฯ ได้พัฒนาโครงการภายใต้ชื่อบริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ รวมทั้งสิ้น 45 เมกะวัตต์ และ 70 ตันต่อชั่วโมง

สิงหาคม

บริษัทฯ จัดการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 1/2562 เพื่อขออนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ จำนวน 13,214,285,710 บาท เป็นทุนจดทะเบียนใหม่จำนวน 28,197,293,710 บาท โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนไม่เกิน 1,321,428,571 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 10 บาท รวมทั้งสิ้น 13,214,285,710 บาท เพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทฯ ตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละรายถืออยู่ (Rights Offering) โดยผู้ถือหุ้นสามารถจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนเกินกว่าสิทธิได้ในอัตราส่วน 1 หุ้นสามัญเดิม ต่อ 0.8819 หุ้นสามัญเพิ่มทุน โดยมีราคาเสนอขายหุ้นละ 56 บาท

กรกฎาคม

บริษัท ไฟฟ้า น้ำลิก 1 จำกัด (NL1PC) ซึ่งบริษัทฯ ได้เข้าถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 40 คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการลงทุน 26 เมกะวัตต์ (เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำชนิดฝายน้ำล้น (Run - of - River) ตั้งอยู่ที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว)) ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 65 เมกะวัตต์กับบริษัท รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว จำกัด (EDL) เป็นระยะเวลา 25 ปี

เมษายน

บริษัทฯ ได้เข้าลงทุนในโครงการ Energy Recovery Unit (ERU) โดยการเข้าซื้อหน่วยผลิตไฟฟ้า ERU ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project: CFP) ของบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) (ไทยออยล์) เพื่อรับโอนกรรมสิทธิ์ในโครงการ ERU จากไทยออยล์ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าการดำเนินการก่อสร้างโครงการ ERU จะแล้วเสร็จและได้รับหนังสือรับรองผลงาน (Provisional Acceptance Certificate: PAC) ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2566

มีนาคม

บริษัทฯ ได้ดำเนินการเข้าซื้อหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมในบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) (โกลว์) โดยเข้าซื้อที่จำนวน 1,010,976,033 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 69.11 และในการนี้ บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องทำคำเสนอซื้อหุ้นที่เหลือทั้งหมดของโกลว์ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 451,889,002 หุ้น คิดเป็นร้อยละ 30.89 ของหุ้นที่ออกจำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของโกลว์ และบริษัทฯ ได้ทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ทั้งหมดของโกลว์ (Mandatory Tender Offer) สิ้นสุดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 อีกจำนวนร้อยละ 26.14

2561
ธันวาคม

บริษัทฯ ได้เข้าทำสัญญาซื้อขายหุ้น เพื่อเข้าซื้อหุ้นโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมผ่านบริษัทย่อยของบริษัทฯ สำหรับเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัทที่เข้าลงทุน ประกอบด้วย (1) บริษัท เอ็น.พี.เอส. สตาร์กรุ๊ป จำกัด (“เอ็น.พี.เอส.”) (2) บริษัท เวิลด์ เอ็กซ์เชนจ์ เอเชีย จำกัด (“เวิลด์ เอ็กซ์เชนจ์ เอเชีย”) (3) บริษัท พี.พี. โซล่า จำกัด (“พี.พี. โซล่า”) ซึ่งประกอบกิจการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 39.5 เมกะวัตต์ และเข้าลงทุนใน (4) บริษัท เทอร์ร่าฟอร์ม โกลบอล โอเปอเรติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นกิจการให้บริการด้านการปฏิบัติการดูแลบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยเมื่อธุรกรรมการเข้าซื้อหุ้นของบริษัทเหล่านี้เสร็จสิ้นลงแล้ว จะส่งผลให้บริษัทเหล่านี้มีสถานะเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ

บริษัทฯ จัดตั้งบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล เพาเวอร์ จำกัด เป็นบริษัทย่อยเพื่อรองรับแผนการขยายการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนของบริษัทฯ

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเห็นชอบในหลักการให้บริษัทฯ รวมกิจการกับบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด มหาชน (โกลว์)  โดยมีเงื่อนไขบังคับก่อนให้ โกลว์ ต้องขายกิจการของบริษัท โกลว์ เอสพีพี 1 จำกัด ให้แล้วเสร็จ เพื่อแก้ไขปัญหาลดการแข่งขันในพื้นที่บริเวณมาบตาพุด รวมถึงเงื่อนไขบังคับหลังการควบรวม 11 ข้อแนบท้ายมติเห็นชอบ ซึ่งบริษัทฯ และผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่ในระหว่างการดำเนินการร่วมกันในการแก้ไขเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นในเอกสารสัญญาที่เกี่ยวข้องอันเนื่องมาจากการเพิ่มเติมเงื่อนไขบังคับก่อนซึ่งอาจมีผลกระทบต่อราคาในการทำคำเสนอซื้อหุ้นโกลว์ โดยบริษัทฯ คาดว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงในเรื่องที่เกี่ยวข้องได้ภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2562

พฤศจิกายน

บริษัทฯ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการวิเคราะห์แก้ไขปัญหาการจ่ายไฟด้วยเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานแบบผสมผสานในพื้นที่เกาะ และพื้นที่ห่างไกล ร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA โดยการดำเนินโครงการ ดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างต้นแบบของการนำระบบกักเก็บพลังงาน และระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Storage System and Energy Management System) มาใช้แก้ปัญหาการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอและเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการพลังงานให้กับพื้นที่ห่างไกล ซึ่งจะสามารถนำต้นแบบเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานภายใต้ความร่วมมือใน MOU นี้ ไปประยุกต์ใช้งานและขยายผลในพื้นที่ห่างไกลต่างๆ ต่อไปในอนาคตได้อย่างเป็นรูปธรรม

สิงหาคม

ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2561 มีมติอนุมัติการเข้าซื้อหุ้นของบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) ทั้งทางตรง และทางอ้อม และอนุมัติการออกหุ้นกู้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในวงเงินรวมไม่เกิน 68,500 ล้านบาท หรือในสกุลเงินอื่นในอัตราเทียบเท่า

กรกฎาคม

บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด ซึ่งบริษัทฯ เข้าถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 100 ได้ลงนามสัญญารับจ้างงานออกแบบ จัดหา และติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาขนาด 2 เมกะวัตต์ และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่ (Battery Energy Storage System หรือ BESS) ขนาด 625 กิโลวัตต์-ชั่วโมงกับ บริษัท จีซี โลจิสติกส์ โซลูชั่นส์ จำกัดหรือ GCL

มิถุนายน

บริษัทฯ ได้แจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งได้เห็นชอบการเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) โดยมีเงื่อนไขบังคับก่อนเข้าซื้อ จำนวน 2 ข้อ ได้แก่ การได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และได้รับอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น โดยได้เรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2561 ในวันที่ 24 สิงหาคม 2561

พฤษภาคม

คณะกรรมการบริษัทฯ มีมติอนุมัติการลงทุนโครงการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ (ประมาณ 60 เมกะวัตต์ และ 10 ตันต่อชั่วโมง) สำหรับลูกค้าอุตสาหกรรม (โครงการขยายกำลังการผลิตฯ) ของบริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด ซึ่งบริษัทฯ เข้าถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 30 โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 3,105 ล้านบาท ซึ่งโครงการขยายกำลังการผลิตฯ จะเริ่มก่อสร้างในไตรมาสที่ 3 ปี 2561 และมีแผนเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ประมาณไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ทั้งนี้ ภายหลังดำเนินการแล้วเสร็จ บริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด จะมีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าสุทธิรวมประมาณ 185 เมกะวัตต์ และการผลิตไอน้ำรวมประมาณ 40 ตันต่อชั่วโมง

เมษายน

บริษัทฯ ได้ลงนามความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการพัฒนา Smart City ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสนับสนุนองค์ความรู้เกี่ยวกับ ระบบกักเก็บพลังงาน ในโครงการสาธิตการบริหารจัดการโครงข่ายไฟฟ้าสำหรับเมืองอัจฉริยะ โดยเบื้องต้นได้ติดตั้งระบบกักเก็บพลังงานขนาด 17 กิโลวัตต์-ชั่วโมง เพื่อเป็นตัวอย่างและต้นแบบสำหรับการศึกษาดูงาน และตอบสนองนโยบาย Energy 4.0 ของรัฐบาล ในการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

กุมภาพันธ์

บริษัทฯ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในโครงการบริหารจัดการกากอุตสาหกรรมในพื้นที่ EEC

มกราคม

บริษัทฯ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในฐานะที่ปรึกษาขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) เพื่อขยายผลการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร โดยบริษัทฯ ได้รับเลือกเป็นโรงงานนำร่องให้เข้าร่วมโครงการขยายผลการส่งเสริมการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรในภาคอุตสาหกรรม ระยะที่ 7 ปี 2561

2560
ธันวาคม

เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2560 บริษัทฯ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับ บริษัท นวนคร จำกัด (NNCL) ในการดำเนินการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และการพัฒนาระบบเชื่อมต่อไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart GRID) ภายในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร

บริษัท อิจิโนเซกิ โซล่า พาวเวอร์ 1 จีเค ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 99 ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิตไฟฟ้า 20.8 เมกะวัตต์ ได้เริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เพื่อจำหน่ายให้แก่ Tohoku Electric Power Company ในวันที่ 15 ธันวาคม 2560 มีอายุสัญญา 20 ปี

พฤศจิกายน

บริษัท ไออาร์พีซี คลีน พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 51 ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติแบบโคเจนเนอเรชั่น ประเภท SPP Firm มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 240 เมกะวัตต์และกำลังการผลิตไอน้ำ 180-300 ตันต่อชั่วโมง ได้เริ่มเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ในระยะที่ 2 เพื่อจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2560 อายุสัญญา 25 ปี ด้วยกำลังการผลิตไฟฟ้า 180 เมกะวัตต์

ตุลาคม

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2560 บริษัทฯ ลงนามต่อสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ไอน้ำ กับ บริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลส์ (ประเทศไทย) จำกัด (ABCT) ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ภายใต้ Birla Group ประเทศอินเดียเพื่อจำหน่ายไฟฟ้าจำนวน 27 เมกะวัตต์ (MW) และไอน้ำ 7 ตัน/ชม. เป็นระยะเวลา 10 ปี ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง โดยจะเริ่มจ่ายไฟฟ้า และไอน้ำตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2560 และสิ้นสุดในวันที่ 24 ธันวาคม 2570

กันยายน

บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 100 ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับบริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด (PTTRM) ผู้ดำเนินการดูแลและบริหารสถานีบริการน้ำมัน ปตท. และร้านค้าสะดวกซื้อจิฟฟี่ ในการดำเนินการพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ภายใน ภายในอาคารและสิ่งปลูกสร้างของบริษัท ปตท. บริหารธุรกิจค้าปลีก จำกัด ซึ่งเป็นพื้นที่ของ PTTRM

บริษัทฯ เข้าลงนามในสัญญาผู้ถือหุ้นกับบริษัท สานพลังวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (PTTSE) โดยถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 10 เพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจการด้านวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise ของ ปตท. และบริษัทในกลุ่ม ปตท.

บริษัทฯ ร่วมลงนามกับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เพื่อแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่าย เสนอขายหุ้นกู้มูลค่ารวม 5,000 ล้านบาท ให้กับผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ โดยหุ้นกู้นี้มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับ A+ จาก บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด

บริษัทฯ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) กับ ระบบท่อจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ PTT Cambodia (PTTCL) ในเรื่อง Natural Gas Market and Total Energy Solution Project

สิงหาคม

บริษัทฯ ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) การเป็นพันธมิตรธุรกิจเชิงกลยุทธ์ ในธุรกิจ Power Digital Solution กับบริษัท Marubeni โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างและพัฒนาความร่วมมือในการเริ่มต้น และขยายธุรกิจ Power Digital Solution ในภูมิภาคนี้ เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2560

มิถุนายน

บริษัท บางปะอิน โคเจนเนอเรชั่น จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 25 ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้า BIC โครงการที่ 2 มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 117 เมกะวัตต์และกำลังการผลิตไอน้ำ 20 ตันต่อชั่วโมง ได้เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ กฟผ. และลูกค้าอุตสาหกรรม วันที่ 29 มิถุนายน 2560 มีอายุสัญญา 25 ปี

พฤษภาคม

บริษัทฯ ได้เข้าซื้อหุ้นบุริมสิทธิกลุ่ม C ของ 24M Technologies, Inc. (24M) โดย 24M จะนำทุนที่ได้ในครั้งนี้ไปใช้เป็นทุนวิจัย และดำเนินการให้ 24M สามารถดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และสายการผลิตแบตเตอรี่ประเภทลิเธียมไอออนได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นำผลิตภัณฑ์เข้าสู่สายการผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ตามแผนดำเนินการ โดยมีเป้าหมายแรกของผลิตภัณฑ์เป็นแบตเตอรี่เพื่อการประยุกต์ใช้เป็นระบบกักเก็บไฟฟ้าสำรองสำหรับภาคอุตสาหกรรม และการเสริมสร้างความมั่นคงในระบบจ่ายไฟฟ้าและระบบเชื่อมโยง

2559
ธันวาคม

บริษัทฯ ได้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทย่อย ภายใต้ชื่อ GPSC International Holdings Limited ซึ่งจดทะเบียนที่เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน มีทุนจดทะเบียนจำนวน 50,000 เหรียญสหรัฐฯ และมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับแผนการขยายการลงทุนต่างประเทศของบริษัทฯ ในอนาคต

บริษัทฯ ร่วมลงนามสัญญาให้เอกชนดำเนินการโครงการบริหารจัดการขยะครบวงจรจังหวัดระยอง (แปลงเป็นเชื้อเพลิง RDF) กับ องค์การบริหารส่วนจังหวัดระยอง เพื่อร่วมกันพัฒนาระบบ จัดการขยะมูลฝอยเป็นพลังงาน (Waste To Energy) เป็นการพัฒนาพลังงานสะอาด และแก้ปัญหาขยะที่เพิ่มขึ้นในจังหวัด

โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน บนพื้นที่สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งจันทบุรี จำกัด โดยบริษัท ผลิตไฟฟ้า และพลังงานร่วม จำกัด เป็นผู้สนับสนุน ซึ่งโครงการนี้ได้เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าส่วน ภูมิภาค (กฟภ.) ในวันที่ 30 ธันวาคม 2559 เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้

พฤศจิกายน

บริษัทฯ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (NSTDA) โดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) และ 24M Technologies, Inc. ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนให้มี ประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยทั้ง 3 ฝ่ายจะร่วมกันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพื่อจะสามารถพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาธุรกิจไฟฟ้าและสาธารณูปการของบริษัทฯ

สิงหาคม

บริษัท อิชิโนเซกิ โซล่า พาวเวอร์ 1 จีเค เบิกเงินกู้งวดแรกจาก ธนาคารผู้ให้กู้ในประเทศญี่ปุ่น โดยโครงการได้ดำเนินการปรับปรุง พื้นที่บางส่วนแล้วเสร็จ พร้อมส่งมอบงานให้ผู้รับเหมาหลัก (Engineering Procurement Construction Contractor : EPC Contractor)

กรกฎาคม

บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 100 ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) กับบริษัท ปตท. กัมพูชา จำกัด (PTTCL) ที่ประกอบกิจการสถานีบริการน้ำมันในประเทศกัมพูชา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาสถานีบริการน้ำมัน (Solar Rooftop) เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้กับ PTTCL การดำเนินโครงการร่วมกันครั้งนี้ ถือเป็นการนำพลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาใช้ในสถานีบริการน้ำมัน ปตท.

บริษัทฯ ได้รับคัดเลือกเข้าเป็นหลักทรัพย์ในกลุ่มดัชนี SET50 ซึ่งมีผลตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2559 จากการปรับอันดับหลักทรัพย์ ในกลุ่มดัชนี SET100 ซึ่งมีผลระหว่าง 1 มกราคม – 30 มิถุนายน 2559 โดยการเข้าคำนวณในดัชนี SET 50 จะส่งผลให้หุ้น GPSC มีสภาพคล่อง สร้างความเชื่อมั่น และความน่าสนใจในการลงทุน รวมทั้งดึงดูดให้กลุ่มนักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุน สถาบันเพิ่มน้ำหนักในหุ้นของบริษัทฯ มากขึ้น

มิถุนายน

บริษัท ผลิตไฟฟ้า นวนคร จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วน ร้อยละ 30 เริ่มเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ประเภท SPP Firm กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในวันที่ 3 มิถุนายน 2559 อายุสัญญา 25 ปี มีกำลังการผลิตไฟฟ้า 125 เมกะวัตต์ และกำลังการผลิตไอน้ำ 30 ตันต่อชั่วโมง ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง

พฤษภาคม

บริษัทฯ ได้เข้าซื้อหุ้นบุริมสิทธิกลุ่ม C ของ 24M Technologies, Inc. (24M) โดย 24M จะนำทุนที่ได้ในครั้งนี้ไปใช้เป็นทุนวิจัย และดำเนินการให้ 24M สามารถดำเนินการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และสายการผลิตแบตเตอรี่ประเภทลิเธียมไอออนได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้นำผลิตภัณฑ์เข้าสู่สายการผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ตาม แผนดำเนินการ โดยมีเป้าหมายแรกของผลิตภัณฑ์เป็นแบตเตอรี่ เพื่อการประยุกต์ใช้เป็นระบบกักเก็บไฟฟ้าสำรองสำหรับภาคอุตสาหกรรม และการเสริมสร้างความมั่นคงในระบบจ่ายไฟฟ้า และระบบเชื่อมโยง

เมษายน

บริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด ซึ่งบริษัทฯ เข้าถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 100 ได้เป็นผู้สนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินให้กับสหกรณ์ภาคการเกษตร จำนวน 1 โครงการ บนพื้นที่สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้งจันทบุรี จำกัด จังหวัดจันทบุรี และเป็นโครงการที่ผ่านการคัดเลือกจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2559 มีกำลังการผลิตติดตั้ง 5 เมกะวัตต์ โดยมีอัตราการรับซื้อไฟฟ้าในรูปแบบ FiT เท่ากับ 5.66 บาทต่อหน่วย

มกราคม

บริษัทฯ ได้จัดทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าและสาธารณูปโภคกับ บริษัท เวนคอเรกซ์ (ไทยแลนด์) จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมเหมราช โดยมีอายุสัญญา 15 ปี มีปริมาณตามสัญญาไฟฟ้า 2.7 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 3 ตันต่อชั่วโมง ไอน้ำสำรอง 3 ตันต่อชั่วโมง และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม 1 ลูกบาศก์เมตรต่อชั่วโมง

2558
18 พฤศจิกายน 2558

IRPC-CP (บริษัท ไออาร์พีซี คลีน พาวเวอร์ จำกัด) Phase ที่ 1 เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ โดยเป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากังหันก๊าซ (Gas Turbine Generator : GTG) ขนาดกำลังการผลิตออกแบบ 45 เมกะวัตต์ เครื่องผลิตไอน้ำแรงดันสูงจากความร้อนเหลือทิ้ง (Heat Recovery Steam Generator : HRSG) ขนาดกำลังการผลิตออกแบบ 70 ตันต่อชั่วโมง

สิงหาคม

คณะกรรมการ GPSC มีมติอนุมัติการลงทุนศูนย์ผลิตสาธารณูปการกลาง แห่งที่ 4 (CUP-4) รูปแบบ SPP (Cogeneration Facilities) กำลังการผลิตไฟฟ้า 45 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 70 ตันต่อชั่วโมง เพื่อขยายกำลังการผลิต และรองรับการเจริญเติบโตของกลุ่ม ปตท. ในเขตนิเวศอุตสาหกรรมวนารมย์ (WEcoZi) นิคมอุตสาหกรรมเอเชีย และลูกค้าอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมบริเวณใกล้เคียง อีกทั้งเป็นการสนับสนุนความมั่นคงของระบบ โครงการ ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการเจรจาสัญญาการรับซื้อไฟฟ้ากับลูกค้าอุตสาหกรรมและ กฟผ. ในรูปแบบ Non-Firm SPP และได้บรรจุอยู่ในแผนรับซื้อไฟฟ้าของ กฟผ.

24 มิถุนายน 2558

GPSC และบริษัทในกลุ่ม ประกอบด้วย ปตท. , บริษัท พีทีที เอ็นเนอร์ยี่ รีซอร์สเซส จำกัด (PTTER) ได้ทำการลงนาม บันทึกความเข้าใจเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการลงทุนโครงการด้านพลังงาน ระหว่าง กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) กับ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการลงทุนโครงการด้านพลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองรับความต้องการใช้พลังงานของประเทศ เสริมสร้างเสถียรภาพความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคต และสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินธุรกิจในต่างประเทศร่วมกัน

27 พฤษภาคม 2558

GPSC พร้อมด้วยผู้ร่วมพัฒนาโครงการ บริษัท Marubeni Corporation และ EDEN Group ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับผู้แทนรัฐบาลสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ในการมอบสิทธิแต่เพียงผู้เดียวและการสนับสนุนการศึกษาความเป็นไปได้สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (Gas-fired Combined Cycle Power Plant) ที่เมืองตันลิน โดยคาดว่าจะมีกำลังการผลิตประมาณ 400 MW เพื่อสนับสนุนเมียนมาในการเสริมความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าบริเวณเมืองย่างกุ้ง

18 พฤษภาคม 2558

GPSC จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และเป็นวัน First Day Trade ซึ่งจำนวนหุ้นที่เสนอขาย จำนวนหุ้นที่จัดสรรจริงเท่ากับ 374,575,200 หุ้น (แบ่งเป็นการเสนอขายต่อประชาชน จำนวน 365,856,600 หุ้น และการเสนอขายต่อกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ จำนวน 8,718,600 หุ้น)

30 มีนาคม 2558

GPSC ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับ บริษัท ยูนิเวอร์แซล ยูทีลิตี้ส์ จำกัด เพื่อทำการศึกษา และพัฒนาโครงการบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ที่มีศักยภาพ เช่น เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี รวมไปถึงพื้นที่ เช่น นิคมอุสาหกรรมแหลงฉบัง ไทยออยคอมเพล็กซ์ และนิคมอุตสาหกรรมเหมราชตะวันออก มาบตาพุด จังหวัดระยอง โดยมีเป้าหมายในการฟื้นฟูสภาพน้ำใช้อุตสาหกรรมให้กลับมาใช้อีก เพื่อลดปริมาณน้ำทิ้ง และเพื่อพัฒนาศักยภาพอื่น ที่จะส่งผลให้เกิดประโยชน์ร่วมกันในการดำเนินธุรกิจภายภาคหน้า

กุมภาพันธ์

GPSC ได้อนุมัติลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Ichinoseki Solar Power 1ประเทศญี่ปุ่น ขนาด 20.8 เมกะวัตต์ เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับบริษัทสาธารณูปโภคประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันโครงการได้ดำเนินการแผ้วถางพื้นที่ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว รวมถึงกำลังดำเนินการเจรจาสัญญาเตรียมพื้นที่ก่อสร้าง และสัญญากับผู้รับเหมาหลัก

2557
5 ธันวาคม 2557

GPSC ได้เข้าซื้อหุ้น NL1PC จากบริษัท พีทีที อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิ้ง จำกัด (“PTTIH”) ในสัดส่วนร้อยละ 40 ของหุ้นทั้งหมด โดย NL1PC เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นใน สปป. ลาว และดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังน้ำ

27 พฤศจิกายน 2557

GPSC จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC

25 กรกฎาคม 2557

GPSC ได้เข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนของ 24M ในสัดส่วนประมาณร้อยละ 17 ของหุ้นทั้งหมด โดย 24M เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อการวิจัยและพัฒนาการผลิตและจำหน่ายแบตเตอรี่ประเภทลิเทียม-ไอออน (Lithium-Ion) ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบใหม่โดยจะลดระยะเวลาและต้นทุนในการผลิตแบตเตอรี่ เพื่อนำมาพัฒนาประยุกต์ใช้เป็นระบบกักเก็บไฟฟ้าสำรองสำหรับภาคอุตสาหกรรมและการเสริมสร้างความมั่นคงในระบบจ่ายไฟฟ้าและระบบเชื่อมโยง ซึ่งถือเป็นธุรกิจต่อเนื่องด้านพลังงานของบริษัทฯ

25 มิถุนายน 2557

GPSC ได้เข้าซื้อหุ้น RPCL จาก ปตท. ในสัดส่วนร้อยละ 15 ของหุ้นทั้งหมด โดย RPCL เป็นบริษัทดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (Combined Cycle Power Plant) ที่ใช้ก๊าชธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ตั้งอยู่ที่จังหวัดราชบุรี

7 กุมภาพันธ์ 2557

GPSC ได้เข้าซื้อหุ้น NNEG จาก ปตท.ในสัดส่วนร้อยละ 30 ของหุ้นทั้งหมด โดย NNEG เป็นบริษัทดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่น (Cogeneration Power Plant) ซึ่งใช้ก๊าชธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี

2556
25 ธันวาคม 2556

GPSC ได้เข้าซื้อหุ้น NSC จาก PTTER ในสัดส่วนร้อยละ 100 ของหุ้นทั้งหมด โดย NSC เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยที่เข้าลงทุนร้อยละ 25 ใน XPCL ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นที่ สปป.ลาว เพื่อดำเนินกิจการโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี

24 ธันวาคม 2556

GPSC ได้เข้าซื้อหุ้น CHPP, BIC และ TSR จาก ปตท. ในสัดส่วนร้อยละ 100 ร้อยละ 25 และร้อยละ 40 ของหุ้นทั้งหมด ตามลำดับ โดย CHPP เป็นบริษัทดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานร่วมกับความเย็น (Combined Heat and Power with District Cooling Power Plant) เพื่อผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็นสำหรับศูนย์ราชการฯ

BIC เป็นบริษัทดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่น (Cogeneration Power Plant) ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ TSR เป็นบริษัทลงทุนที่ลงทุนในโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งดำเนินการโดย SSE1 ตั้งอยู่ในจังหวัดกาญจนบุรีและสุพรรณบุรี

17 ธันวาคม 2556

GPSC ได้เข้าซื้อหุ้น IRPC-CP จาก IRPC ในสัดส่วนร้อยละ 51 ของหุ้นทั้งหมด โดย IRPC-CP อยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่น (Cogeneration Power Plant) ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงตั้งอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมไออาร์พีซี จังหวัดระยอง

10 มกราคม 2556

ก่อตั้ง GPSC จากการควบรวมกิจการระหว่าง PTTUT และ IPT โดยมีทุนจดทะเบียนเริ่มต้นจำนวน 8,630 ล้านบาท