สุขภาวะและความปลอดภัยในการสภาพแวดล้อมการทำงาน

บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ จีพีเอสซี มุ่งมั่นที่จะสร้างความเป็นเลิศในการดำเนินงานให้บรรลุตามพันธกิจขององค์กร โดยตระหนักและคำนึงถึงการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบในด้านความมั่นคงปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมที่ดีในการทำงานของผู้ปฏิบัติงาน บริษัทฯ จึงได้กำหนดให้มีการบริหารจัดการและมาตรการเชิงรุกในการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นทั้งจากเครื่องจักรในพื้นที่ปฏิบัติงาน สภาพการณ์ของพื้นที่ปฎิบัติงานและขั้นตอนการทำงาน เพื่อลดและควบคุมความเสี่ยงในทุกกระบวนการทำงานและที่อาจนำไปสู่การการบาดเจ็บ เจ็บป่วย หรือสูญเสียชีวิต รวมทั้งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ โดยให้ความสำคัญกับการตรวจสอบประสิทธิภาพในการผลิตและความพร้อมของเครื่องจักรอย่างต่อเนื่อง การประเมินความเสี่ยงและผลกระทบของกระบวนการการทำงานทุกขั้นตอน รวมถึงการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยและอาชีวอนามัยอย่างเคร่งครัด โดยมีวิสัยทัศน์ พันธกิจ และการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในการขับเคลื่อนให้องค์กร “มุ่งสู่อุบัติการณ์ที่เป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานเป็นศูนย์” ดังนี้

วิสัยทัศน์ด้านความปลอดภัย (Safety Vision)

บริษัทฯ ตระหนักและให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบในด้านความปลอดภัย สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีวิสัยทัศน์ด้านความปลอดภัย คือ “Drive to Zero Incidents that Harm People” มุ่งสู่อุบัติการณ์ที่เป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานเป็นศูนย์ บริษัทฯ มุ่งเน้นในการปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรด้านความปลอดภัย “WE SAFE” เพื่อสร้างทัศนคติด้านความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานทุกคนให้ดำเนินงานทุกขั้นตอนภายใต้วัฒนธรรมความปลอดภัยองค์กร

ทำงานอย่างปลอดภัย ใส่ใจกับทุกคน
คิดก่อนลงมือทำ หยุดก่อนถ้าไม่ปลอดภัย
GRI 3-3
พันธกิจด้านความมั่นคง ปลอดภัย และอาชีวอนามัย
  • คุณภาพและความเชื่อมั่นต้องตอบสนองความต้องการของลูกค้า
  • กำหนดมาตรฐานและขับเคลื่อนด้านคุณภาพ ความมั่นคงปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม (QSHE), ความปลอดภัยในกระบวนการผลิต (Process Safety Management) และดำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมความปลอดภัยองค์กร ‘WE SAFE’ เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกความปลอดภัยให้เป็น GPSC DNA
  • ทุกอันตรายจะถูกค้นหาและประเมินเพื่อขจัดให้หมดไปหรือควบคุมให้อยู่ในระดับต่ำที่สุด
  • เพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องในการบริหารความมั่นคงปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม ด้วยหลักการ 3E ได้แก่ วิศวกรรม (Engineering) การให้ความรู้ (Education) และการส่งเสริมให้พนักงานและผู้รับเหมามีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมด้านความปลอดภัยฯ (Encouragement to Employees and Contractors)
  • ไม่มีการประนีประนอมในเรื่องของความปลอดภัย (Safety is a must without any compromise)
GRI 403-3, 403-4
การกำกับดูแลด้านความปลอดภัยและอาชีวอนามัย

บริษัทฯ ได้จัดให้มีหน่วยงานคุณภาพ ความมั่นคงปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม และคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานตามกฎหมายกำหนดในทุกพื้นที่ของบริษัทฯ ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนฝ่ายบริหาร ตัวแทนผู้ปฏิบัติงานในสัดส่วนตามที่กฎหมายกำหนด และเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพเป็นเลขานุการ ทั้งที่สำนักงานใหญ่และที่โรงไฟฟ้า โดยกำหนดให้มีการจัดประชุมอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง เพื่อหารือในวาระต่างๆ ดังต่อไปนี้

  • การระบุความเสี่ยงด้านความปลอดภัยฯ และประเมินอันตรายในสถานที่ทำงาน

    บริษัทฯ ได้จัดทำเอกสารการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ (Health Risk Assessment: HRA) ที่มีรายละเอียดขั้นตอนการระบุความเสี่ยงด้านความปลอดภัยฯ หน้าที่และบุคลากรที่รับผิดชอบที่จำเป็นต้องทำการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ การระบุอันตราย (Hazard Identification) การประเมินการสัมผัส (Exposure Evaluation) และการระบุความเสี่ยงและการจัดการความเสี่ยง (Risk Identification) โดยจะนำผลการดำเนินการดังกล่าวไปพัฒนาแผนปฏิบัติการด้านความปลอดภัยฯ และกำหนดดัชนีชี้วัดผลการปฏิบัติงาน (KPI)

  • แผนปฏิบัติการลดอันตรายในสถานที่ทำงานพร้อมเป้าหมายเชิงปริมาณ

    จากการประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพ ผลการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในปีที่ผ่านมาและการมีส่วนร่วมของพนักงาน บริษัทฯ ได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย รวมถึง KPI เพื่อลดความเสี่ยงและส่งเสริมความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน

    โดยในปี 2565 ไม่พบกรณีการบาดเจ็บจากการทำงานถึงขั้นรักษาทางการแพทย์ (Medical Treatment Case / MTC หรือ Total Recordable Injury Rate / TRIR = 0)

  • การปฏิบัติการเพื่อเตรียมรับมือและตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน

    บริษัทฯ มอบหมายให้ทีม Emergency Response Team (ERT) เตรียมพร้อมรับมือกับภาวะฉุกเฉินของทุกหน่วยปฏิบัติการ รวมถึงจัดทำ ทบทวน และปรับปรุงแผนปฏิบัติการอย่างสม่ำเสมอเพื่อตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน โดยแผนปฏิบัติการระบุถึงบทบาทหน้าที่ บุคลากรที่รับผิดชอบ รายละเอียดของกระบวนการในสถานการณ์ต่างๆ (เช่น เพลิงไหม้หรือการระเบิด การรั่วไหลของก๊าซไวไฟ สารเคมีรั่วไหล เป็นต้น) ช่องทางการสื่อสาร อุปกรณ์ที่ใช้ รายชื่อและช่องทางติดต่อในช่วงวิกฤต

  • การประเมินความก้าวหน้าของแผนปฏิบัติการด้านการลด ป้องกันปัญหาสุขภาพและความเสี่ยงตามเป้าหมาย

    บริษัทฯ มีการประชุมคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเป็นประจำเพื่อประเมินความก้าวหน้าของคณะทำงานตามแผนปฏิบัติการด้านความมั่นคงปลอดภัย และอาชีว อนามัย

  • การตรวจติดตามภายใน

    บริษัทฯ มอบหมายให้คณะผู้ตรวจติดตามภายใน (Internal Auditor) ดำเนินการตรวจสอบภายในอย่างต่อเนื่องและมีหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้

    • ศึกษากฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
    • ทบทวนรายการตรวจสอบและแนวทางการตรวจสอบ
    • ประสานงานกับหน่วยงานในการตรวจสอบภายใน
    • รวบรวมข้อมูลด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย
    • จัดทำรายงานอาชีวอนามัยและความปลอดภัย รวมถึงให้คำแนะนำเพื่อปรับปรุงการทำงาน

    โดยการตรวจสอบภายในของบริษัทฯ เป็นไปตามมาตรฐานระบบ ISO 9001, ISO 14001, ISO 45001, ISO 22301 และ ISO 27001

    รายละเอียดคณะผู้ตรวจติดตามภายใน (หน้า 3-9) และหน้าที่รับผิดชอบ (หน้า 9) สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในเอกสารการตรวจติดตามภายใน

  • การปรับปรุงเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างและข้อกำหนดของสัญญา

    บริษัทฯ มีข้อกำหนดการจัดซื้อจัดจ้างและสัญญาในเอกสาร “Service Agreement” ซึ่งผู้จัดหา (Supplier) จำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าว โดยเอกสารระบุข้อมูลดังต่อไปนี้

    • คำจำกัดความ (Definitions)
    • ขอบเขตการให้บริการ (Scope of Services)
    • ค่าตอบแทนและเงื่อนไขการชำระเงิน (Remuneration and Terms of Payment)
    • ฟอร์มหนังสือค้ำประกันสัญญา (Performance Bond)
    • จรรยาบรรณ (Code of Conduct)
    • รูปแบบของรายงาน
    • อุปกรณ์ป้องกันบุคคล (Personal Protective Equipment: PPE)
    • กฎและข้อบังคับด้านความปลอดภัย

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมด้านความปลอดภัยในการทำงาน ตลอดจนมีการติดตามผลดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ และข้อร้องเรียน/ข้อเสนอแนะจากพนักงานอยู่เสมอ โดยนำข้อมูลไปใช้ในการวางแผนปรับปรุงการดำเนินงานและนำเสนอผู้บริหารระดับสูงให้รับทราบต่อไป อีกทั้งบริษัทฯ กำหนดให้ผู้บริหารต้องเป็นตัวอย่างด้านความปลอดภัย (Safety Role Model) โดยต้องมีลงพื้นที่เพื่อกำกับดูแลการดำเนินงานด้านความปลอดภัยฯ อย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอตลอดทั้งปี

GRI 403-1

บริษัทฯ ตระหนักดีว่าการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยในกระบวนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพจะสามารถป้องกันความเสี่ยงอันอาจจะเกิดอุบัติภัยร้ายแรงและเป็นกรอบเพื่อใช้ในการปฏิบัติงานตลอดห่วงโซ่คุณค่าของบริษัทฯ การบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยในกระบวนการผลิต หรือ Process Safety Management (PSM) เป็นส่วนหนึ่งของ “ระบบปฏิบัติการสู่ความเป็นเลิศ” (Operational Excellence Management System: OEMS) ครอบคลุมตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ กระบวนการวิศวกรรม การปฏิบัติการผลิต การตรวจสอบประสิทธิภาพการผลิตและความพร้อมของเครื่องจักร รวมถึงการบำรุงรักษาที่ดี และการประเมินความเสี่ยงเพื่อกำหนดแผนการบริหารจัดการป้องกันและควบคุมความเสี่ยงในกระบวนการผลิต ทั้งในภาวะปกติ ภาวะผิดปกติ และภาวะฉุกเฉิน ตลอดจนมีการจัดการฝึกอบรมและกิจกรรมที่ส่งเสริมความปลอดภัยในกระบวนการผลิต เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานมาตรฐานการจัดการความปลอดภัยในกระบวนการผลิต (Process Safety Management - PSM) และคณะกรรมการตรวจประเมินภายในและได้รับการตรวจประเมินรับรองระบบการจัดการความปลอดภัยในกระบวนการผลิตจากผู้ตรวจประเมินตามมาตรฐานการจัดการความปลอดภัยกระบวนการผลิตของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและนโยบายกลุ่มบริษัทฯ

GRI 3-3, 403-2
กระบวนการประเมินและป้องกันความเสี่ยงด้านอาชีวอนามัย

บริษัทฯ ตระหนักถึงความเสี่ยงและอันตรายทุกขั้นตอนการปฏิบัติงานของพนักงานและผู้รับเหมา จึงได้ดำเนินการชี้บ่งอันตราย ประเมินความเสี่ยงและโอกาสด้านความมั่นคงปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ครอบคลุมทุกกิจกรรมและสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานของทุกพื้นที่ของหน่วยธุรกิจภายใต้การบริหารธุรกิจของบริษัทฯ โดยพิจารณากิจกรรมและสภาพแวดล้อมในการทำงานทั้งหมดของทุกตำแหน่งงานในแต่ละหน่วยงานโดยจัดทำเป็นรายการกิจกรรม จากนั้นดำเนินการชี้บ่งและประเมินความเสี่ยงและโอกาสของประเด็นด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม แล้วทำการจัดลำดับความเสี่ยงที่มีค่านัยสำคัญ (Significant) ของแต่ละกิจกรรม เพื่อดำเนินการแก้ไขปรับปรุงหรือกำหนดแผนการจัดการแก้ไขปรับปรุงเพื่อลดความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้หรือขจัดให้หมดไป พร้อมรายงานความก้าวหน้า ปัญหาและข้อเสนอแนะต่อผู้ประสานงานหรือตัวแทนฝ่ายบริหารระบบการจัดการด้านคุณภาพ ความมั่นคงปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมทราบเป็นระยะ นอกจากนั้นยังมีการทบทวนผลการชี้บ่งประเมินความเสี่ยงและประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ตามวาระอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง รวมถึงเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญและเมื่อเกิดอุบัติเหตุในการทำงานเกิดขึ้น บริษัทฯ จะทบทวนประสิทธิภาพของมาตรการควบคุมที่มีอยู่และดำเนินการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำ

ภายใต้วิสัยทัศน์ขององค์กรที่จะเป็นบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าชั้นนำด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนในระดับสากล การบริหารจัดการด้านคุณภาพ ความมั่นคงปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมถือว่าเป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยบริษัทฯ ได้มีการกำหนดนโยบายคุณภาพ ความมั่นคงปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้เป็นกรอบในการบริหารภายในกลุ่มบริษัทฯ ซึ่งผู้บริหาร พนักงาน ผู้รับเหมา และผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนต้องนำไปปฏิบัติและเป็นกรอบในการปฏิบัติงานภายในกลุ่มบริษัทฯ

เพื่อให้บริษัทฯ เป็นองค์กรในการผลิตไฟฟ้าในระดับสากลและสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างถูกต้อง บริษัทฯ ได้มีการจัดทำและรับรองระบบการบริหารจัดการในระดับสากล ได้แก่

ระบบมาตรฐานการบริหารจัดการด้านคุณภาพ (ISO 9001: 2015)

ระบบมาตรฐานการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (ISO 14001: 2015)

ระบบมาตรฐานการบริหารจัดการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (ISO 45001: 2018)

ระบบมาตรฐานการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (ISO 22301: 2019)

โดยทั้ง 4 ระบบ บริษัทฯ ขอการรับรองครอบคลุมทั้งในส่วนของโรงไฟฟ้าและสำนักงานใหญ่ เพื่อให้องค์กรสามารถบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบและได้รับการยอมรับในระดับสากล บริษัทฯ ให้ความสำคัญและใส่ใจกับการจัดการความเสี่ยงที่อาจส่งผลต่อความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจที่อาจกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย รวมไปถึงการประเมินผลกระทบทางธุรกิจและความเสี่ยงภายใต้ระบบการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management System: ISO 22301) เพื่อให้แน่ใจได้ว่าจะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องและไม่เกิดผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย โดยในปีที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้คงไว้ซึ่งการรับรองระบบมาตรฐานข้างต้นจากสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (สรอ.) หรือ Management System Certification Institute (Thailand)

นอกจากนี้ ในการปฏิบัติงานบริษัทฯ กำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนมีสิทธิ์ในการปฏิเสธการทำงานหรือสั่งหยุดงานโดยทันที หากพบว่ากิจกรรมใดในงานนั้นอาจนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุหรืออุบัติการณ์ด้านความปลอดภัยหรือสิ่งแวดล้อม โดยถือว่าการปฏิเสธหรือการสั่งหยุดงานไม่เพียงแต่เป็นสิทธิ์เท่านั้น แต่ยังถือเป็นหน้าที่หากเห็นว่าสภาพการณ์หรือพฤติการณ์นั้นๆ อาจเป็นอันตราย ทั้งนี้เพื่อปกป้องเพื่อนร่วมงานและ/หรือผู้ปฏิบัติงานจากการบาดเจ็บหรือได้รับอันตรายจากอุบัติเหตุหรืออุบัติการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในงาน จนกว่าความไม่ปลอดภัยนั้นๆ จะได้รับการแก้ไขปรับปรุงให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย

อำนาจในการสั่งหยุดงานมีขั้นตอนดังนี้

GRI 403-1
ความปลอดภัยส่วนบุคคล (Personal Safety)

บริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการปลูกจิตสำนึกความปลอดภัยให้กับพนักงาน โดยมีการกำหนดวัฒนธรรมความปลอดภัย เรียกว่า “WE SAFE” โดยมีการส่งเสริมและจัดกิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยให้กับพนักงานและผู้รับเหมา โดยกำหนดให้พนักงานทุกคนต้องผ่านการฝึกอบรมด้านความมั่นคงปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มปฏิบัติงานกับบริษัทฯ เพื่อให้พนักงานและผู้รับเหมารับทราบกฎและระเบียบวิธีการปฏิบัติงานที่ปลอดภัยตามลักษณะงาน สอดคล้องตามมาตรฐานสากล และเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด บริษัทฯ มีการกำหนดดัชนีชี้วัดผลการปฏิบัติงาน (Key Performance Indicator: KPI) ร่วมกันทั้งองค์กร เพื่อให้พนักงานให้ความตระหนักถึงความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน

บริษัทฯ มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมความปลอดภัยให้กับพนักงานเพื่อเป็นการกระตุ้นและปลูกจิตสำนึกด้านความปลอดภัยให้กับพนักงาน เช่น กิจกรรม 5ส กิจกรรม Here WE SAFE กิจกรรม Safety Walkthrough กิจกรรม Flash Eye กิจกรรมส่งเสริมการรายงานเหตุการณ์ที่ต่ำกว่ามาตรฐานความปลอดภัย (Sub-standard Report)รวมถึงการดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ปราศจากอุบัติเหตุถึงขั้นหยุดงาน โดยได้มีการตั้งเป้าหมายถัดไป 10 ล้านชั่วโมงการทำงานโดยปราศจากอุบัติเหตุถึงขั้นหยุดงานภายในปี 2566

เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในปี 2565 ที่ผ่านมา บริษัทฯให้ความสำคัญในการป้องกันและดูแลพนักงานและผู้รับเหมาให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างปลอดภัย และป้องกันการหยุดชะงักของกระบวนการผลิต โดยบริษัทฯ ได้มีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการ COVID-19 (G-COVID Center) ตั้งแต่ปี 2563 ที่ทำหน้าที่บริหารจัดการเกี่ยวกับการป้องกัน COVID-19 ร่วมกับกลุ่ม ปตท. และนโยบายของรัฐบาล ส่งผลให้บริษัทฯ สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้เน้นย้ำให้พนักงานปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองขั้นพื้นฐานอย่างเคร่งครัด เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19 ในระหว่างการเดินทางและในระหว่างการปฏิบัติงาน หรือการทำกิจกรรมร่วมกลุ่ม รวมทั้งสนับสนุนชุด COVID-19 Care Kits และชุดตรวจ Antigen Test Kit ให้กับพนักงานทุกคน อีกทั้งการส่งเสริมและสนับสนุนให้พนักงานเข้ารับวัคซีน พร้อมเชิญแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการให้ความรู้ทางวิชาการและการประชาสัมพันธ์ข้อมูลด้านการป้องกัน COVID-19 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันพนักงานกลุ่มบริษัทฯ ได้รับวัคซีนขั้นพื้นฐานครอบคลุมร้อยละ 99.5 ของจำนวนพนักงานทั้งหมด

GRI 403-2, 403-4
โปรแกรมการรายงานอุบัติการณ์ GPSC Web-accident และโครงการส่งเสริมด้านความปลอดภัย

บริษัทฯ มีวิสัยทัศน์ในการ “มุ่งสู่อุบัติการณ์ที่เป็นอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงานเป็นศูนย์” ที่มุ่งจะสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ และผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ดังนั้น จึงกำหนดให้มีการปรับปรุงการจัดเก็บข้อมูลผลการดำเนินการด้านความปลอดภัย รวมถึงอุบัติการณ์ต่างๆ อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อความรวดเร็วและถูกต้องของข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ การสืบหาสาเหตุ และกำหนดแนวทางการแก้ไขอุบัติการณ์นั้นๆ รวมถึงป้องกันการเกิดซ้ำได้อย่างมีประสิทธิผล โดยการพัฒนาโปรแกรมการรายงานอุบัติการณ์ (Incident Report Program) ระบบ G-Covid ระบบ ESG Data center แล้วเสร็จภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งพนักงานทุกคนสามารถเข้าถึงระบบสื่อสารด้านอุบัติการณ์แบบรวมศูนย์ (Single Point Communication) สามารถบันทึก ประมวลผลและวิเคราะห์เหตุการณ์ พร้อมทั้งดำเนินการสอบสวนเพื่อจัดทำมาตรการแก้ไขป้องกัน รวมถึงสามารถเข้าถึงข้อมูลสถิติความปลอดภัยฯ ผ่านระบบฐานข้อมูลแบบออนไลน์ นอกจากนี้ยังมีการจัดทำโครงการส่งเสริมด้านความปลอดภัย เช่น กิจกรรม Here WE SAFE เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริหารเป็นผู้นำด้านความปลอดภัยและให้ผู้ปฏิบัติงานทุกระดับได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมซึ่งจะมีการนำไปสู่ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขเพื่อลดหรือขจัดความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยฯ

GRI 403-5
การอบรมด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย

บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย และพัฒนาความรู้ ทักษะด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอให้แก่พนักงานและผู้รับเหมา เพื่อให้พนักงานและผู้รับเหมามีความตระหนักและสามารถปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับกฎหมายอย่างเคร่งครัด รวมถึงจัดให้มีการฝึกอบรมด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยให้กับพนักงานเข้าใหม่และพนักงานทุกระดับผ่านแผนการฝึกอบรมประจำปี (Annual Training Plan) โดยให้สอดคล้องกับนโยบายคุณภาพ ความมั่นคงปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อมของบริษัทฯ

บริษัทฯได้จัดให้มีการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยให้กับพนักงาน เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการทางด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัย ดังตารางต่อไปนี้

ชื่อหลักสูตร ผู้บริหาร พนักงานสายปฏิบัติการ พนักงานสายสนับสนุน ผู้รับเหมา
1. GPSC Group QSHE Orientation
2. เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับบริหาร      
3. เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับหัวหน้างาน    
4. การดับเพลิงขั้นต้น (Basic Fire Fighting)
5. หลักสูตรความปลอดภัยเฉพาะทาง
5.1 ความปลอดภัยในการทำงานที่อับอากาศ
5.2 ทบทวนความปลอดภัยในการทำงานที่อับอากาศ
5.3 ความปลอดภัยในการทำงานบนที่สูง
5.4 ความปลอดภัยในการทำงานเกี่ยวกับรังสี
5.5 Crane Operating Integrated (Refresher)
5.6 Defensive Driving
5.7 Boiler Controller (Refresher)
5.8 Ergonomic
5.9 Hearing Conservation Program (HCP)
5.10 Portable Tool, Machine and Machine Guarding
5.11 Electrical Safety & CPR
5.12 Job Safety and Environment Analysis (JSEA)
 
6. SSHE Procedure Awareness
GRI 403-3, 403-6, 403-7
การส่งเสริมอาชีวอนามัยและสุขภาพที่ดีของพนักงาน

บริษัทฯ ตระหนักดีว่าสภาพแวดล้อมในการทำงานและสุขภาพอนามัยที่ดีของพนักงานจะช่วยส่งเสริมให้มีการทำงานอย่างปลอดภัยและมีความสุขในการทำงาน บริษัทฯ จัดให้มีการตรวจสุขภาพประจำปีให้กับพนักงานทุกคน โดยให้มีการตรวจเพิ่มเติมตามปัจจัยเสี่ยงจากการทำงานในพื้นที่ปฏิบัติงาน และมีการนำผลการตรวจสุขภาพของพนักงานบันทึกในระบบ E-Health Book ซึ่งพนักงานทุกคนสามารถเข้าไปดูข้อมูลสุขภาพของตนเองได้ และข้อมูลนี้จะช่วยให้สามารถวิเคราะห์และติดตามผลการตรวจสุขภาพได้โดยบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงสามารถนำข้อมูลไปใช้ในการจัดทำแผนในการส่งเสริมให้พนักงานมีสุขภาพที่ดี นอกจากนี้ บริษัทฯมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้พนักงานได้ตระหนักถึงการดูแลสุขภาวะที่ดี ป้องกันและลดผลกระทบด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังส่งเสริมสุขภาพที่ดีแก่พนักงาน ดังนี้

  • จัดทำจดหมายอิเล็คทรอนิกส์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและเฝ้าระวังโรคติดต่อตามฤดูกาลอย่างต่อเนื่อง
  • จัดกิจกรรมส่งเสริมทางด้านอาชีวอนามัยและสุขภาพที่ดี เช่น โครงการ “GPSC Health Challenge 2022” เพื่อส่งเสริมให้พนักงานหันมาสนใจในการออกกำลังกาย เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ
  • มีการจัดอบรมให้กับพนักงานด้านการยศาสตร์ (Ergonomic) เพื่อให้พนักงานเข้าใจและสามารถป้องกันการเจ็บป่วยจากออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) จากการทำงาน
  • สนับสนุนให้พนักงานออกกำลังกายนอกเวลาการทำงาน โดยจัดหาสถานที่ออกกำลังกาย พร้อมกับอุปกรณ์การกีฬาให้กับพนักงาน รวมถึงกิจกรรมนันทนาการและชมรมต่างๆ เพื่อมุ่งหวังให้พนักงานมีสุขภาพอนามัยที่ดีทั้งร่างกายและจิตใจ
  • มีการจัดช่องทางการใช้งานบริการปรึกษานักจิตวิทยา (Employee Counseling Service) ผ่านโทรศัพท์และวิดีโอคอลสำหรับพนักงานกลุ่มบริษัทฯ
  • สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการจัดหาอุปการณ์ทางด้านการยศาสตร์ (Ergonomic) ให้กับพนักงานในช่วงการปฏิบัติงานในพื้นที่พักอาศัย (Work From Home)
พนักงานได้รับความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพและเฝ้าระวังโรคติดต่อตามฤดูกาลอย่างต่อเนื่องผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ เช่น อีเมล บอร์ดประชาสัมพันธ์
มีพนักงานเข้าร่วมจัดกิจกรรมส่งเสริมทางด้านอาชีวอนามัยและสุขภาพที่ดี ปี 2022 จำนวน 182 คน
เกิดการแบ่งปันวิธีการและสร้างเสริมสุขภาพภายในองค์กร
พนักงานมีความเข้าใจและสามารถป้องกันการเจ็บป่วยจากออฟฟิศซินโดรมจากการทำงาน
มีการอำนวยความสะดวกให้พนักงานสามารถปรึกษาด้านสุขภาพจิตผ่านทาง Online ตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในกรณีเกิดภาวะฉุกเฉิน บริษัทฯได้จัดให้พนักงานได้รับการฝึกอบรมการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อให้พนักงานมีความรู้ในการกู้ชีพและสามารถใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator: AED) ที่บริษัทฯ จัดเตรียมไว้ให้ในการช่วยเหลือพนักงานที่ประสบเหตุพร้อมกับมีการฝึกซ้อมการใช้งานประจำทุกปีและจัดให้มีห้องพยาบาลที่มีพยาบาลประจำตลอดเวลา พร้อมกับยาและเวชภัณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมให้พนักงานสามารถรักษาอาการเบื้องต้นได้ทุกพื้นที่ของกลุ่มบริษัทฯ

ปรับปรุง ณ เดือน กุมภาพันธ์ ปี 2566

เนื้อหาข้างต้นจัดทำตามมาตรฐานการรายงานความยั่งยืน โดย The Global Reporting Initiative (GRI Standards) ได้รับการตรวจสอบความถูกต้องโดยหน่วยงานภายนอกและให้ความเชื่อมั่นข้อมูลการรายงานในระดับจำกัด (Limited Assurance)