คำสั่ง บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ที่ 007 / 64 เรื่อง นโยบายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity Policy)

เพื่อให้กลุ่มบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ) มีการบริหารจัดการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์และความเสี่ยงด้านไซเบอร์อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแนวปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อป้องกันภัยคุกคาม การโจมตี การทำลายระบบสารสนเทศ และการจารกรรมข้อมูลทางไซเบอร์ จึงให้ยกเลิกประกาศ นโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ (Cyber Security Policy) ที่ปรากฏตามหมวดที่ 3 ภายใต้ ข้อกำหนด บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ว่าด้วย มาตรฐานการปฏิบัติตามนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology Policy Standard Practice) พ.ศ. 2563 และกำหนดนโยบายการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ ฉบับใหม่ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

  1. ให้มีคณะทำงานด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยมีตัวแทนจากทางหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ จากกระบวนการทางธุรกิจ และ จากกระบวนการทางผลิตในแต่ละพื้นที่โรงงานเป็นผู้รับผิดชอบความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และให้กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบพร้อมทั้งวิธีการบริหารจัดการ
  2. พัฒนาและรักษากรอบการดำเนินงานหรือแนวปฏิบัติการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และติดตามกฎหมายและข้อกำหนดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง และพิจารณาการปฏิบัติตามให้สอดคล้อง
  3. ให้มีการบริหารจัดการความเสี่ยงความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ โดยการประเมินจากภัยคุกคาม (Threat) ช่องโหว่ (Vulnerability) ความเป็นไปได้ (Likelihoods) และผลกระทบ (Impact) ต่อธุรกิจ รวมทั้งให้มีการจัดการความเสี่ยง ที่มีความสอดคล้องกับการบริหารความเสี่ยงในระดับองค์กร โดยขอบเขตของการบริหารความเสี่ยงความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ครอบคลุมถึงสินทรัพย์และบุคลากรทั้งหมดขององค์กร อีกทั้งหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง
  4. สื่อความและจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับภัยคุกคามด้านไซเบอร์ (Cybersecurity Awareness) เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ความรับผิดชอบ และความเข้าใจการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ให้กับพนักงานอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  5. ให้มีการติดตั้งระบบป้องกันและระบบตรวจจับการบุกรุกด้านไซเบอร์ ให้ครอบคลุมระบบสารสนเทศของบริษัทฯ พร้อมทั้งจัดให้มีการเฝ้าระวัง และให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยด้านไซเบอร์ ต้องรายงานข้อมูลภัยคุกคามด้านไซเบอร์ให้แก่ผู้บริหารรับทราบอย่างน้อยไตรมาสละครั้ง
  6. ให้จัดทำแผนการตอบสนองเหตุการณ์ผิดปกติด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อการจัดการเหตุการณ์ผิดปกติได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งลดผลกระทบต่อกระบวนการธุรกิจที่สำคัญ พร้อมทั้งทดสอบและทบทวนแผนการตอบสนองฯ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง
  7. ให้จัดทำแผนฟื้นฟูหลังจากเกิดเหตุการณ์ผิดปกติ เพื่อลดผลกระทบต่อกระบวนการธุรกิจที่สำคัญ พร้อมทั้งทดสอบและทบทวนแผนฟื้นฟูฯ เพื่อประเมินความถูกต้องและมีประสิทธิผลของแผน อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  8. ให้มีการตรวจประเมินช่องโหว่ (Vulnerability Assessment) หรือ การทดสอบเจาะระบบ (Penetration Test) โดยครอบคลุมระบบโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ (Infrastructure) และโปรแกรมประยุกต์ (Application) สำหรับระบบสารสนเทศที่มีความเสี่ยงจากภัยคุกคามด้านไซเบอร์อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ทั้งนี้ ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2564
(นายวรวัฒน์ พิทยศิริ)
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่
นโยบายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์

คุณอาจสนใจเมนูที่เกี่ยวข้องอื่นๆ