การร่วมมือเพื่อส่งเสริมงานวิจัยและการพัฒนานวัตกรรม
GRI 203-1
บริษัทฯ ตระหนักดีถึงความสำคัญของการร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเชิงพาณิชย์จากนวัตกรรม และเล็งเห็นโอกาสของนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) ที่จะเป็นช่องทางในการเปิดรับและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ แนวคิด รวมถึงประสบการณ์จากภายนอกองค์กร เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ทำให้ธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขันและยกระดับนวัตกรรมพลังงาน บริษัทฯ มุ่งเน้นการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมผ่านความร่วมมือต่าง ๆ โดยมีโครงการดังนี้
การพัฒนาโซล่าลอยน้ำทะเลแห่งแรกในประเทศไทย (G-Float)

การร่วมมือเพื่อพัฒนาโครงการนำร่องการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดลอยน้ำทะเล (Floating Solar) หรือ G-Float โดยร่วมมือกับบริษัทในกลุ่มปตท.และบริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) ซึ่งเป็นนวัตกรรมทุ่นโซลาร์ลอยน้ำเชิงพาณิชย์ที่รองรับกลุ่มลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่ต้องการใช้พลังงานหมุนเวียนในองค์กร
G-Float ถูกออกแบบให้มีจุดเด่นในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าที่ใช้นวัตกรรมเม็ดพลาสติก (High Density Polyethylene หรือ โพลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง) ที่มีคุณสมบัติพิเศษ อาทิ ความยืดหยุ่น แข็งแรง ทนทาน อีกทั้งยังลดการสะสมของเพรียงทะเล และไม่เป็นพิษต่อสัตว์ทะเล G-Float สามารถติดตั้งได้สะดวกรวดเร็วและง่ายต่อการบำรุงรักษา รองรับการติดตั้งแผงโซลาร์ขนาดมาตรฐานจนถึงขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักมากขึ้น และมีอายุการใช้งานของวัสดุยาวนานถึง 25 ปี ยังสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้
ประโยชน์เชิงการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
- เพิ่มอายุการใช้งานเป็น 25 ปี
- เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าผ่านการใช้วัสดุที่ทนทานต่อการกัดกร่อนได้ดีขึ้น
ประโยชน์เชิงการสร้างรายได้และลดค่าใช้จ่าย
- ประหยัดค่าไฟฟ้าลง 390,000 บาท (ติดตั้ง 100 กิโลวัตต์)
- สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้ตลอดอายุการใช้งานเท่ากับ 7.8 ล้านบาท
ประโยชน์เชิงทรัพยากรมนุษย์และนวัตกรรม
- สร้างโอกาสให้พนักงานของบริษัทฯ ขยายขีดความสามารถ เพิ่มทักษะ และประสบการณ์ด้านระบบพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำทะเล
ประโยชน์อื่นๆ
- ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 36 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และกว่า 725 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าตลอดอายุการใช้งาน
- เม็ดพลาสติกที่นำมาขึ้นรูปผลิตภัณฑ์ไม่มีผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ทางทะเล (ได้รับการยืนยันโดยสำนักงานอาหาร และยาประเทศสหรัฐอเมริกา)
- สามารถเป็นตัวอย่างกรณีศึกษา เพื่อการเรียนรู้สำหรับชุมชนที่สนใจเกี่ยวกับระบบพลังงานแสงอาทิตย์
โครงการจัดการพลังงานอัจฉริยะ เพื่อเป็นชุมชนต้นแบบในสถาบันวิทยสิริเมธี(Smart Energy Community at Vidyasirimedhi Institute Of Science And Technology; VISTEC)

การร่วมมือกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในการการศึกษาพัฒนาระบบจัดการพลังงานอย่างชาญฉลาดที่ผ่านเทคโนโลยีต่างๆ ณ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) โดยบูรณาการเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางพลังงานใหม่ๆ เพื่อใช้ศึกษาเป็นแนวทางในการต่อยอดและใช้งานได้จริงในอนาคต ไม่ว่าจะเป็น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอย่างมีเสถียรภาพ (Solar Rooftop และ Solar Floating) การใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบพลังงานหมุนเวียน การนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มาวิเคราะห์การผลิต จัดเก็บ และส่งกระแสไฟฟ้า ตลอดจนการประยุกต์ใช้ระบบโครงข่ายในการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์ (Blockchain) เพื่อให้แต่ละอาคารสามารถซื้อขายไฟแบบเชื่อมต่อโครงข่ายโดยตรง ระหว่างเครื่องคอมพิวเตอร์ (Peer - to - Peer: P2P) ซึ่งสามารถทำธุรกรรมแบบดิจิทัล ที่มีการกำหนดไว้ล่วงหน้าแบบอัตโนมัติ (Smart Contract) โดยไม่ต้องอาศัยตัวกลางและแสดงผลการทำงานแบบตอบสนองทันที (Real Time) เป็นต้น
ประโยชน์เชิงการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
- เพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานหมุนเวียนภายในอาคารกว่าร้อยละ 38.5
ประโยชน์เชิงการสร้างรายได้และลดค่าใช้จ่าย
- ได้รับรายได้จากการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 1.75 ล้านบาท ในระยะแรก และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.16 ล้านบาทในปี 2564 รวมเป็น 5.8 ล้านบาท
ประโยชน์เชิงทรัพยากรมนุษย์และนวัตกรรม
- เสริมทักษะความรู้ด้านนวัตกรรมพลังงานหมุนเวียนเพื่อใช้ต่อยอดลงทุนในอนาคต
- พนักงานบริษัทฯ สามารถเข้าถึงรูปแบบเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนดาดฟ้าอาคารและลอยน้ำ รวมถึงการใช้งานระบบกักเก็บไฟฟ้า
- ตอบสนองนโยบายหลักของบริษัทฯ ที่ต้องการผลักดันการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นประโยชน์ต่อชุมชนบริเวณใกล้เคียง
- ใช้เป็นกรณีศึกษาด้านนวัตกรรมของกลุ่มธุรกิจไฟฟ้า รวมถึงการต่อยอดแนวทางการจัดการพลังงานที่หลากหลายในอนาคต
ประโยชน์อื่นๆ
- ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1,211,306 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
- จัดตั้งเป็นศูนย์กลางเรียนรู้ด้านพลังงานหมุนเวียนสำหรับชุมชน
- สร้างเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างบริษัทฯ และชุมชนบริเวณใกล้เคียง
- สนับสนุนให้นักศึกษาในสถาบัน VISTEC เข้าร่วมศึกษาเรียบรู้และทดลองใช้นวัตกรรม
นวัตกรรมแบตเตอรี่แห่งอนาคต G-Cell Battery


บริษัทฯ ร่วมมือกับบริษัท 24M Technologies, Inc ที่มีความเชียวชาญด้านแบตเตอรี่ประเภทลิเทียม-ไอออน (Lithium-Ion) ในประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อวิจัยพัฒนาแบตเตอรี่ชนิด Semi-Solid ที่มีชื่อว่า G-Cell เพื่อรองรับการขยายตัวเชิงพาณิชย์ โดยมีความโดดเด่น คือ มีอายุการใช้งานที่ยาวนานหรือมีวัฏจักรในการชาร์จใหม่ได้มากถึง 1000-10,000 ครั้ง และมีระยะเวลากักเก็บพลังงานไฟฟ้านานถึง 350 วันซึ่งมากกว่าแบตเตอรี่ลิเที่ยมทั่วไปถึง 1.2 เท่า แบตเตอรี่ นอกจากนี้ ยังสามารถควบคุมอุณหภูมิของตัวเองได้แม้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงเพื่อลดโอกาสการเกิดไฟฟ้าลัดวงจรภายในแบตเตอรี่ รวมถึงมีน้ำหนักเบาและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยไม่ใช้สารยึดเกาะ (No binder) ส่งผลให้เซลล์แบตเตอรี่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ง่ายขึ้นด้วยต้นทุนที่ถูกกว่าแบตเตอรี่ชนิดอื่นๆ
G-Cell สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์หลากหลาย ทั้งแบบอยู่กับที่ (Stationary) และแบบเคลื่อนที่ (Mobile) ผ่านการดัดแปลงเป็นผลิตภัณฑ์ อาทิ G-Pack และ G-Box รวมถึงรองรับเทคโนโลยีแห่งอนาคต เช่น ระบบสถานีชาร์จ ระบบโทรคมนาคมและ Data Center ที่ต้องการเสถียรภาพของระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้า
ประโยชน์เชิงการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน
- สามารถลดเวลาในการผลิต และลดต้นทุนลงได้ร้อยละ 50
- ลดการใช้สารเคลือบในชิ้นส่วนแบตเตอรี่ลงร้อยละ 30 ส่งผลให้แบตเตอรี่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ง่ายขึ้น
ประโยชน์เชิงการสร้างรายได้และลดค่าใช้จ่าย
- คาดว่าจะสร้างรายได้กว่า 2,500 ล้านบาทต่อปีจากผลิตภัณฑ์ G-Cell จากการคาดการณ์กำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์-ชั่วโมง
- สร้างรายได้ประมาณ 3,000 บาทต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ในปี 2568
- ลดค่าภาษีนำเข้าของระบบกักเก็บพลังงานจากต่างประเทศลง ร้อยละ 23
ประโยชน์เชิงทรัพยากรมนุษย์และนวัตกรรม
- สร้างทักษะให้พนักงานจากการร่วมศึกษาวิจัยกับผู้เชี่ยวชาญด้านระบบกักเก็บพลังงานในระดับสากล
- ยกระดับการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประโยชน์อื่นๆ
- แบตเตอรี่มีความปลอดภัยสูง สามารถควบคุมอุณหภูมิภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- ผลิตโดยชิ้นส่วนที่ใช้สารเคลือบน้อยกว่าปกติร้อยละ 40 ส่งผลให้แบตเตอรี่สามารถนำไปรีไซเคิลง่ายขึ้น สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน