การบริหารจัดการ
ความเสี่ยงและภาวะวิกฤต

GRI 3-3

ด้วยบริบทการดำเนินธุรกิจภายใต้ความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในปัจจุบัน ทั้งจากสถานการณ์ความขัดแย้งปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์และการแบ่งแยกทางสังคม (Challenges from Geopolitics and Polarization) ในระดับภูมิภาคและระดับสากล ความอ่อนไหวจากปัจจัยด้านภูมิเศรษฐกิจและสถานการณ์การตรึงตัวทางเศรษฐกิจ การเงิน การค้า การลงทุนซึ่งส่งผลต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย และภาวะเงินเฟ้อ ประกอบกับปัจจัยความเสี่ยงและผลกระทบที่เกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risk) และความเข้มข้นด้านกฎระเบียบ กฎเกณฑ์และมาตรการทางสังคมเพื่อสนองตอบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเป้าหมายการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นพันธะความรับผิดชอบของทุกภาคส่วนในระดับสากล จึงกล่าวได้ว่า ความผันผวนและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจและการปรับตัวของบริษัทฯ ต่อบริบทที่เปลี่ยนไปไม่ว่าในด้านกฎหมาย กฎระเบียบทางธุรกิจและการค้าที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่อการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ความผันผวนด้านราคาเชื้อเพลิงพลังงานภายใต้นโยบายการตรึงราคาค่าไฟฟ้าซึ่งมีผลต่อการดำเนินการผลิต รวมถึงความผันผวนด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่มีผลต่อการขยายการลงทุนของบริษัทฯ เหล่านี้ก่อให้เกิดความท้าทายอย่างมีนัยสำคัญยิ่งต่อปัจจัยความสำเร็จของบริษัทฯ ตามพันธกิจเป้าหมายการดำเนินธุรกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีความยืดหยุ่นคล่องตัวและทันต่อสถานการณ์ภายใต้บริบทการบริหารความเสี่ยงทางธุรกิจย่อมเป็นสิ่งที่สามารถช่วยสนับสนุนการดำเนินงานและสามารถบรรเทาป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยในอีกด้านหนึ่ง บริษัทฯ ได้ใช้โอกาสในการบริหารความเสี่ยงและความไม่แน่นอนต่างๆ นี้ เพื่อก่อเกิดโอกาสทางธุรกิจทั้งในส่วนที่เป็นการดำเนินการในปัจจุบันและโอกาสทางธุรกิจที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอนาคต อาทิ โอกาสการขยายการเติบโตสู่ธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ธุรกิจการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ตามนโยบายรัฐ ซึ่งจะเป็นการดำเนินการโดยสอดคล้องและตอบโจทย์ต่อพฤติกรรมและรูปแบบการบริโภคของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ด้วยหลักการและเหตุผลดังที่กล่าวมาข้างต้น บริษัทฯ จึงให้ความสำคัญและยึดถือแนวปฏิบัติการบริหารจัดการความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร (Enterprise Risk Management: ERM) ตามหลักมาตรฐานสากล The Committee of Sponsoring Organizations of the Treadway Commission (COSO) ERM Framework เพื่อทำให้มั่นใจว่าในทุกกลไกและกิจกรรมทางธุรกิจจะสามารถนำหลักการบริหารความเสี่ยงไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสม อันจะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดต่อบริษัทฯ อีกทั้งบริษัทฯ ยังได้ดำเนินการกำกับดูแลการบริหารความเสี่ยงองค์กรในภาพรวมผ่านคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ภายใต้การมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัทฯ และมีคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายในที่ดำเนินการบริหารความเสี่ยงอย่างใกล้ชิดในระดับฝ่ายจัดการ โดยบริษัทฯ ได้มีแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงและภาวะวิกฤต ดังนี้
สามารถศึกษาการผลประเมินผลกระทบของประเด็นสำคัญได้ที่ Link

วัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยง

GRI 2-23, 2-24

ด้วยปรัชญาและวัฒนธรรมการดำเนินธุรกิจขององค์กรที่มุ่งสู่การสร้างคุณค่าร่วมต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน ภายใต้แนวคิดและหลักการพื้นฐานที่เริ่มจากวัฒนธรรมองค์กรที่ดีและมีการดำเนินงานที่ชัดเจน เช่นนั้นบริษัทฯ จึงให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงที่ดีทั่วทั้งองค์กรโดยมีแผนงานพัฒนาและแนวทางการดำเนินการทั้งในระยะสั้นและระยะยาวผ่านมิติต่างๆ ทั้งด้านระบบบริหารจัดการและกระบวนการทำงาน รวมถึงการบริหารบุคลากร ผ่านกรอบการบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กรที่ที่มีหลักสำคัญได้แก่

1. นโยบายบริหารความเสี่ยงของบริษัทฯ

บริษัทฯ โดยคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ได้กำหนดนโยบายการบริหารความเสี่ยงของบริษัทฯ เพื่อใช้เป็นกรอบในการกำกับดูแลและส่งเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงานบริหารความเสี่ยง โดยเชื่อมโยงการบริหารความเสี่ยงในทุกระดับทั่วทั้งองค์กรและขยายรวมถึงระดับกลุ่มบริษัท GPSC เพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์และเป้าหมายทางธุรกิจ รวมถึงสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลง โดยครอบคลุมการบริหารความเสี่ยงในทุกมิติทั้งด้านกลยุทธ์และการลงทุน ด้านการเงิน ด้านธุรกิจ ด้านเทคโนโลยีและการปฏิบัติการ ด้านกฎหมายและกฎระเบียบ ด้านบุคลากรและโครงสร้างองค์กร รวมถึงความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (ESG Risk) การทุจริตและคอร์รัปชัน และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risks) อาทิ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและความปลอดภัยไซเบอร์ นอกจากนั้น ได้กำหนดให้การบริหารความเสี่ยงเป็นบทบาทหน้าที่ของผู้บริหารและพนักงานทุกระดับทั่วทั้งองค์กร เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ จะมีการบริหารจัดการองค์กรในภาพรวมอย่างมีระบบ ภายใต้การบริหารความเสี่ยงที่ครอบคลุมทุกกิจกรรมการดำเนินธุรกิจ เชื่อมโยงกับระบบควบคุมภายในและการตรวจสอบภายในที่มีประสิทธิภาพ

เพื่อให้นโยบายบริหารความเสี่ยงของบริษัทฯ มีเนื้อหาและแนวทางที่สอดคล้องกับบริบทและเป้าหมายทางธุรกิจที่เป็นปัจจุบัน บริษัทฯ จึงได้จัดให้มีการทบทวนและขออนุมัติ หากมีการปรับปรุงแก้ไขในทุกปี

เพื่อให้กรอบระดับความเสี่ยงที่บริษัทฯ ยอมรับได้ มีมิติมุมมองและหลักเกณฑ์ที่สอดคล้องกับบริบทและเป้าหมายทางธุรกิจที่เป็นปัจจุบัน บริษัทฯ จึงได้จัดให้มีการทบทวนและขออนุมัติหากมีการปรับปรุงแก้ไขในทุกปี

ดาวน์โหลดนโยบายบริหารความเสี่ยง

2. กรอบระดับความเสี่ยงที่บริษัทฯ ยอมรับได้ (Risk Appetite)

ที่ใช้กำหนดระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ในการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ ภายใต้หลักการการวิเคราะห์และตัดสินใจบนความสอดคล้องและบริบทสภาพแวดล้อมตลอดจนกิจกรรมและเป้าหมายทางธุรกิจของบริษัทฯ โดยกรอบระดับความเสี่ยงที่บริษัทฯ ยอมรับได้ ประกอบด้วย 5 มิติที่สำคัญ ได้แก่

  • มิติด้านการเงิน (Financial Aspect): ในอันที่จะรักษานโยบายและระดับโครงสร้างทางการเงินตลอดจนอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ให้อยู่ในระดับน่าลงทุน
  • มิติด้านธุรกิจและการปฏิบัติการ (Business and Operation Aspect): ที่มุ่งรักษาด้านเสถียรภาพและความมั่นคงของการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าภายใต้อุบัติการณ์ต่อผู้ปฏิบัติงานเป็นศูนย์ (Zero Incident) และการดำเนินธุรกิจต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือชุมชน
  • มิติด้านกฎหมายและกฎระเบียบ (Law and Regulation Aspect): ที่ไม่ยอมรับต่อการทำผิดกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ หรือนโยบายของบริษัทฯ การทุจริตและคอร์รัปชั่น อีกทั้งให้ความสำคัญต่อการจ้างงานที่ต้องไม่ผิดหลักการด้านสิทธิมนุษยชนตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
  • มิติด้านกลยุทธ์และการลงทุน (Strategy and Investment Aspect): ที่จะลงทุนเพื่อมุ่งสู่ Target Portfolio ที่สอดคล้องกับเกณฑ์การลงทุนและนโยบายการเงินการลงทุนของบริษัทฯ โดยให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการการลงทุนในแหล่งพลังงานสะอาดและเป้าหมายการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกลุ่ม GPSC ภายใต้การลงทุนที่สร้างคุณค่า (Value Creation) โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม อย่างรอบคอบ อีกทั้งยังให้ความสำคัญต่อการลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนา
  • มิติด้านบุคลากรและความสามารถขององค์กร (Human Resources and Organization Aspect): ที่มุ่งพัฒนาความสามารถขององค์กรและพนักงานเพื่อให้สอดคล้องกับกลยุทธ์และการเติบโตทางธุรกิจของบริษัทฯ

เพื่อให้กรอบระดับความเสี่ยงที่บริษัทฯ ยอมรับได้ มีมิติมุมมองและเนื้อหาที่สอดคล้องกับบริบทและเป้าหมายทางธุรกิจที่เป็นปัจจุบัน บริษัทฯ จึงได้จัดให้มีการทบทวนและขออนุมัติหากมีการปรับปรุงแก้ไขในทุกปี

3. เกณฑ์การประเมินความเสี่ยง (Risk Criteria)

ซึ่งบริษัทฯ ได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่สอดคล้องต่อกรอบการดำเนินงานทางธุรกิจ โดยครอบคลุมมิติด้านการเงิน กระบวนการธุรกิจและการปฏิบัติการ ชื่อเสียงองค์กร ด้านลูกค้า ด้านบุคคล สำหรับการวิเคราะห์ระดับผลกระทบความเสียหายและความถี่ในการเกิดเหตุการณ์ความเสี่ยงใดๆ นั้นจะใช้เกณฑ์การประเมินความเสี่ยง เดียวกันทั่วทั้งองค์กรโดยมีมิติย่อยในการพิจารณา แสดงดังภาพ

เพื่อให้กรอบระดับความเสี่ยงที่บริษัทฯ ยอมรับได้ มีมิติมุมมองและหลักเกณฑ์ที่สอดคล้องกับบริบทและเป้าหมายทางธุรกิจที่เป็นปัจจุบัน บริษัทฯ จึงได้จัดให้มีการทบทวนและขออนุมัติหากมีการปรับปรุงแก้ไขในทุกปี

4. การบริหารและยกระดับองค์ความรู้ของผู้บริหารและพนักงานในกลุ่มบริษัทฯ ทั่วทั้งองค์กร

ผ่านการจัดฝึกอบรมทั้งในรูปแบบออนไลน์ (E-Learning) และรูปแบบเชิงปฏิบัติการ (Workshop) ที่มีเนื้อหาครอบคลุมและสอดคล้องตามนโยบายบริหารความเสี่ยงและบริบททางธุรกิจทั้งระดับองค์กรและระดับหน่วยงานเพื่อสร้างองค์ความรู้ตามเป้าหมายการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมทั้งมีการทบทวน ทวนสอบองค์ความรู้เพื่อสร้างความมั่นใจว่าบุคลากรของบริษัทฯ จะได้รับองค์ความรู้ที่สอดคล้องกับบริบทสถานการณ์องค์กรและธุรกิจที่เป็นปัจจุบันและสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานได้อย่างเต็มความสามารถ

5. การวัดผลสัมฤทธิ์และประสิทธิภาพการดำเนินงานบริหารความเสี่ยง

เป็นการดำเนินงานผ่านการติดตามความคืบหน้าการบริหารความเสี่ยงองค์กรเป็นรายไตรมาสผ่านการรายงานคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง นอกจากนี้ เพื่อการขับเคลื่อนประสิทธิภาพผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายความสำเร็จขององค์ที่วางไว้อย่างเป็นรูปธรรม บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญต่อการผลักดันการบริหารความเสี่ยงที่สำคัญผ่านดัชนีชี้วัดผลการดำเนินงาน (Key Performance Index: KPI) ของผู้บริหารและพนักงาน ซึ่งเป็นกลไกที่ช่วยสร้างแรงจูงใจและผลักดันผลการดำเนินงานให้เข้าไปสู่เป้าหมายได้อย่างสัมฤทธิ์ผล

โครงสร้างการกำกับดูแลการบริหารจัดการความเสี่ยงและกรอบการบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร

GRI 2-12, 2-13, 2-16, 3-3

การบริหารความเสี่ยงของบริษัทฯ จะดำเนินงานภายใต้ ขอบเขต อำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบของคณะกรรมการเฉพาะด้าน ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดตามขอบเขตอำนาจหน้าที่การบริหารความเสี่ยงขององค์กร ได้แก่

  • คณะกรรมการบริษัทฯ (Board of Directors)
    มีบทบาทความรับผิดชอบในการพิจารณาปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจเกิดขึ้นและกำหนดแนวทางการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างครอบคลุมครบถ้วน และกำกับดูแลให้ผู้บริหารและฝ่ายจัดการมีระบบกระบวนการที่มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการความเสี่ยง รวมถึงปัจจัยความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจและเพื่อประสิทธิภาพต่อระบบและการดำเนินงานการบริหารความเสี่ยงที่สอดคล้องตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงบริบททางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างเป็นปัจจุบัน ตลอดจนอนุมัติกรอบการบริหารความเสี่ยงระดับองค์กรประจำปีและทวนสอบผลการดำเนินงานของบริษัทฯ เป็นประจำทุกปีหรือกรณีที่มีเหตุสำคัญกระทบอย่างมีนัยสำคัญ
  • คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง (Risk Management Committee: RMC)
    ภายใต้กฎบัตรคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทฯ ในการมอบหมายคณะกรรมการบริษัทฯ บางส่วนมาปฏิบัติหน้าที่เฉพาะด้าน โดยคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง (Risk Management Committee: RMC) ได้รับมอบหมาย ขอบเขต อำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบในการกำหนดและทบทวนนโยบายกรอบการดำเนินงานด้านการบริหารความเสี่ยงขององค์กร การกำกับดูแล สนับสนุนและติดตามประสิทธิภาพและผลการดำเนินงานด้านการบริหารความเสี่ยงองค์กรที่สอดคล้องกลยุทธ์ เป้าหมายทางธุรกิจ และสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ อีกทั้งกำหนดให้มีการทวนสอบและสอบทานบริบทความเสี่ยงที่เป็นปัจจุบันเพื่อผลักดันแนวทางการบริหารจัดการตามปัจจัยและเหตุการณ์ที่สำคัญต่อการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัทฯ ได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงยังมีหน้ที่สำคัญในการกำกับดูแล สนับสนุน และพัฒนาการบริหารความเสี่ยงในทุกระดับทั่วทั้งองค์กรให้สามารถผลักดันประสิทธิภาพการดำเนินงานตามกลยุทธ์และเป้าหมายทางธุรกิจ รวมถึงสนองตอบสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนกำหนดให้มีการทบทวนกรอบความเสี่ยงที่ยอมรับได้ของบริษัทฯ ที่จะเป็นการช่วยสร้างความตระหนักถึงค่านิยมด้านความเสี่ยงที่จะเป็นการยอมรับและรับรู้ทั่วกัน และมีการติดตาม กลั่นกรอง ให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะงานด้านบริหารความเสี่ยง เพื่อให้การดำเนินงานด้านการบริหารความเสี่ยงมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทฯ กำหนดให้มีการจัดประชุมอย่างน้อยไตรมาสละหนึ่งครั้ง(สามารถค้นหารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับขอบเขต อำนาจ หน้าที่ความรับผิดชอบของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงได้ที่กฎบัตรคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง)

    กฎบัตรคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง   

  • คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายใน (Risk Management & Internal Control Committee)
    ประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงของบริษัทฯ ทำหน้าที่ในการบริหารจัดการดูแลระบบการบริหารจัดการความเสี่ยง ระบบการควบคุมภายใน และการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจของบริษัทฯ ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ทั้งด้านการจัดทำ ดำเนินงาน ติดตามและทวนสอบผลการดำเนินงานความเสี่ยงองค์กรรายไตรมาส นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่ผลักดันการดำเนินงานบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กรและการพัฒนาขีดความสามารถและส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงแก่พนักงานในทุกระดับ ตลอดจนบูรณาการแนวทางการดำเนินงานทั้งภายในองค์กรและความร่วมมือระหว่างองค์กรทั้งภายในกลุ่มและภายนอกกลุ่มบริษัทฯ และมอบหมายฝ่ายจัดการ/ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการประเด็นความเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องในมิติต่าง อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ โดยผ่านการประชุม RMCC ที่มีการจัดประชุมอย่างน้อยไตรมาสละหนึ่งครั้งและรายงานผลต่อ RMC เพื่อการพิจารณาความครบถ้วนในแนวทางการดำเนินงานในทุกปี
  • หน่วยงาน/พนักงาน (Risk Owners/ Functions)
    พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในการปฏิบัติงาน เพื่อลดโอกาสเกิดผลกระทบความเสียหายขององค์กรให้เหลือน้อยที่สุดภายใต้การบริหารประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจให้ได้มากที่สุด ตลอดจนการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจและการดำเนินการจากมาตรการการบริหารความเสี่ยงในมิติและกิจกรรมต่างๆ โดยมีหน้าที่ประเมินความเสี่ยงและความไม่แน่นอน ตลอดจนโอกาสต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อเป้าหมายหรือการดำเนินการใดๆ ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้เพื่อหาแนวทางบริหารจัดการ ตลอดจนสร้างความร่วมมือทั้งในระดับภายในองค์กรและภายนอกองค์กร เพื่อสนับสนุนการดำเนินตามวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงที่องค์กร ยึดถือปฏิบัติร่วมกัน
  • คณะกรรมการตรวจสอบ (Audit Committee)
    มีบทบาทในการสอบทานประสิทธิภาพและความเพียงพอของระบบบริหารความเสี่ยง เพื่อให้มั่นใจว่าระบบการบริหารความเสี่ยงของบริษัทฯ สอดคล้องตามแนวทางที่กำหนดภายใต้กฎบัตรคณะกรรมการตรวจสอบ

กรอบการบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กร

GRI 2-16

นอกจากโครงสร้างคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงคณะต่างๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญต่อบุคลากรทั่วทั้งองค์กรในระดับการบริหารและระดับปฏิบัติงานของส่วนงานต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าบริบทการดำเนินธุรกิจ การกำกับดูแล และการผลักดันประสิทธิภาพจะสามารถก่อเกิดได้ตั้งแต่ระดับพนักงาน/ผู้ปฏิบัติงานจนถึงระดับผู้บริหารสูงสุดในแต่ละดับขั้น ผ่านความรับผิดชอบในระดับตำแหน่งงานต่างๆ ที่ครอบคลุมทุกกิจกรรมในห่วงโซ่การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ

ทั้งนี้ กรอบการบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กรของบริษัทฯ (Enterprise Risk Management Framework) และความเชื่อมโยงโครงสร้างและการบริหารความเสี่ยง แสดงดังแผนภาพ

กลยุทธ์และกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยง

ภายใต้กรอบการบริหารความเสี่ยงทั่วทั้งองค์กรของบริษัทฯ (Enterprise Risk Management: ERM) บริษัทฯ ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานบริหารความเสี่ยงใน 2 ระดับได้แก่ ระดับองค์กร (Corporate Level) และระดับหน่วยงาน (Functional Level) โดยมีกลยุทธ์และกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยง ได้แก่

กลยุทธ์ในการบริหารจัดการความเสี่ยง

ด้วยกลยุทธ์การบริหารจัดการความเสี่ยงที่นอกจากการมุ่งสร้างองค์ความรู้ที่ดีทั่วทั้งองค์กรให้แก่ผู้บริหาร พนักงาน และผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ภายใต้การขับเคลื่อนวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยง (Risk Culture) ที่รับรู้โดยทั่วกันแล้วนั้น แนวทางการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพยังหมายรวมถึงการมีตัวแทนหน่วยงานต่าง ๆ เป็นผู้ประสานงานด้านความเสี่ยง (Risk Agent) โดยแยกตามกลุ่มของความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับงานครบทุกกิจกรรมทางธุรกิจของบริษัทฯ และมีส่วนบริหารความเสี่ยงเป็นผู้ประสานงานส่วนกลางและกำกับดูแล ตลอดจนกำหนดกลยุทธ์และผลักดันการปรับปรุงพัฒนาระบบการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement) เพื่อให้การบริหารความเสี่ยงสามารถดำเนินงานได้อย่างบูรณาการในทุกมิติ เป็นระบบที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันทั้งองค์กรและสอดคล้องกับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจแล้วนั้น บริษัทฯ ยังได้สร้างความร่วมมือในกลุ่ม ปตท. ในการแสวงหาการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารความเสี่ยงทั้งในด้านต่างๆ อาทิ การพัฒนาระบบการปฏิบัติการสู่ความเป็นเลิศ (Operational Excellence Management System: OEMS) การบริหารความยั่งยืน (Sustainability Management) เป็นต้น

กระบวนการบริหารความเสี่ยงองค์กร

บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการบูรณาการการมีส่วนร่วมในการบริหารความเสี่ยงทุกระดับอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่การประเมินปัจจัยเสี่ยง การวิเคราะห์และจัดทำประเด็นความเสี่ยงที่จะกระทบต่อบริบทองค์กรทั้งในมิติที่สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจซึ่งเป็นปัจจัยภายใน และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายใต้ความผันผวนจากสภาพแวดล้อมทางธุรกิจและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risk) ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก ประกอบกับประเด็นปัญหาอุปสรรค และความเสี่ยงในกิจกรรมการดำเนินงานระดับหน่วยงาน (Functional Risk) ที่มีนัยสำคัญต่อบริบททางธุรกิจซึ่งต้องมีการผลักดันและยกระดับการดำเนินงานบริหารจัดการความเสี่ยงในระดับหน่วยงานเข้าสู่กระบวนการการจัดทำการบริหารความเสี่ยงองค์กรทั้งในระยะสั้น (1 ปี) (Short Term Risk) ระยะกลาง (3-5 ปี) (Medium Term Risk) และระยะยาว (มากกว่า 5 ปี) (Long Term Risk) เพื่อเข้าสู่การพิจารณาอนุมัติ ซึ่งจะใช้เป็นกรอบในการกำกับดูแลการบริหารจัดการความเสี่ยงและติดตามทวนสอบ ตลอดจนรายงานผลการดำเนินงานเพื่อเชื่อมโยงผลการปฏิบัติงานกับเป้าหมายองค์กร โดยบริษัทฯ มีการกำหนดช่วงเวลาที่ชัดเจนในการทบทวนความเสี่ยงและติดตามผลการดำเนินงานอย่างน้อยเป็นรายไตรมาสทั้งในระดับฝ่ายจัดการและระดับคณะกรรมการบริษัทฯ ตลอดจนมีการพิจารณาทบทวนการขออนุมัติปรับเพิ่มรายการความเสี่ยงองค์กรที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อบริษัทฯ (Emerging Risk) ในระหว่างปี เพื่อให้มั่นใจว่าองค์กรมีกระบวนการประเมินการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญและตอบสนองต่อความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ในระหว่างช่วงปี ซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงในระยะสั้นถึงระยะปานกลางได้อย่างทันท่วงทีและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งที่กล่าวมาโดยรวมเป็นแนวทางที่สำคัญยิ่งที่บริษัทฯ ยึดถือปฏิบัติในการใช้ระบบบริหารความเสี่ยงเพื่อเป็นเครื่องมือผลักดันแผนกลยุทธ์และการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ที่วางไว้ และนอกจากการส่งเสริมผลักดันการบริหารจัดการความเสี่ยงให้เป็นวัฒนธรรมการทำงานขององค์กรผ่านการดำเนินงานต่างๆ ดังกล่าวมาข้างต้น ทั้งด้านนโยบายการบริหารความเสี่ยงบริษัทฯ และการผลักดันประสิทธิภาพและผลการดำเนินงานความเสี่ยงในทุกระดับผ่านการประเมินผลการดำเนินงาน (KPI) ซึ่งสะท้อนจาก 1) ความเสี่ยงระดับองค์กรที่ผู้บริหารระดับสูงและบุคลากรในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้รับการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปีในมิติด้านการบริหารความเสี่ยงที่เกี่ยวเนื่องเพื่อเป้าหมายการมีส่วนร่วมในการผลักดันผลสัมฤทธิ์การดำเนินงานในระดับองค์กร และ 2) ความเสี่ยงระดับหน่วยงาน ซึ่งผู้ปฏิบัติงานในแต่ละหน่วยงานจะได้รับการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปีในขอบเขตภาระหน้าที่งานต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าผลสัมฤทธิ์งานภายใต้การบริหารจัดการความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในการทำงานจะอยู่ในการควบคุมดูแลเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายตามที่รับผิดชอบ ซึ่งจะเป็นปัจจัยส่งผลต่อภาพรวมการบริหารความเสี่ยงและเป้าหมายทางธุรกิจระดับองค์กร

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญต่อรายการที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเป้าหมายและแผนกลยุทธ์องค์กร โดยอาจพิจารณายกระดับความเสี่ยงดังกล่าวขึ้นเป็นความเสี่ยงระดับองค์กรในช่วงเวลาที่อาจมีการเกิดเหตุการณ์ที่มีความสำคัญขึ้นเพื่อยกระดับการบริหารประสิทธิภาพการตอบสนองต่อความเสี่ยงและผลกระทบต่อไป

การประเมินและจัดทำทะเบียนความเสี่ยง (RISK REGISTER)

ในการพยากรณ์เหตุการณ์และวิเคราะห์จัดทำประเด็นความเสี่ยง เพื่อประเมินโอกาสและระดับของความเสียหายที่อาจที่เกิดขึ้น บริษัทฯ มีการดำเนินงานโดยหน่วยงานผู้รับผิดชอบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งครอบคลุมกระบวนทำงานที่หลากหลายส่วน อาทิ การบริหารความเสี่ยงทั้งด้านการดำเนินธุรกิจ การบริหารงานก่อสร้าง การบริหารและพิจารณาการลงทุนโครงการ การบริหารงานอาชีวอนามัย ความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม การกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความยั่งยืนและสิทธิมนุษยชน เป็นต้น ซึ่งบริษัทฯ มุ่งเน้นการดำเนินงานอย่างรอบด้านและแสวงหามาตรการรองรับที่เพียงพอเหมาะสม ภายใต้มิติเกณฑ์การประเมินความเสี่ยงที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วทั้งองค์กร ดังรูป

โดยมีการดำเนินการประเมินและจัดทำทะเบียนความเสี่ยงเป็น 7 ขั้นตอนดังนี้

1. การกำหนดวัตถุประสงค์ขอบเขตการดำเนินการ (Objective Setting)

เป็นการกำหนดวัตถุประสงค์/เป้าหมายเพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อขอบเขตการพิจารณาแนวโน้มโอกาส/ความไม่แน่นอนต่างๆ ที่จะส่งผลต่อประสิทธิผลในการดำเนินงาน เพื่อให้การประเมินความเสี่ยงและกำหนดแผนบริหารจัดการความเสี่ยงมีความชัดเจนและมีประสิทธิภาพทั้งด้านการกำกับดูแล การระบุแผนงานและผู้ดูแล ตลอดจนการตรวจติดตามวัดผลการดำเนินงาน โดยวัตถุประสงค์ขอบเขตการพิจารณาความเสี่ยงจะหมายรวมถึงการพิจารณากิจกรรมทางธุรกิจและการประเมินความเสี่ยงต่างๆ ในทุกระดับ อาทิ

  • การประเมินระดับกลยุทธ์ เป้าหมายทางธุรกิจขององค์กร ซึ่งเป็นความเสี่ยงระดับองค์กร
  • การประเมินระดับกิจกรรมทางธุรกิจของหน่วยงานซึ่งเป็นความเสี่ยงระดับหน่วยงาน
  • การประเมินระดับงานเฉพาะกิจหรือโครงการต่างๆ ซึ่งเป็นความเสี่ยงระดับโครงการภายใต้การกำกับโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • อื่นๆ เป็นต้น
2. การระบุปัจจัยเสี่ยง (Risk Identification)

เป็นการระบุความเสี่ยงหรือเหตุการณ์ทั้งหมดที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสำเร็จ/เป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเหตุการณ์ความไม่แน่นอนดังกล่าว อาจเป็นได้ทั้งเหตุการณ์เชิงบวก (โอกาส) หรือเหตุการณ์เชิงลบ (ความเสี่ยง) ที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งบริษัทฯ พิจารณาระบุปัจจัยเสี่ยงผ่าน

  1. การประเมินสถานการณ์ในอนาคตโดยพิจารณาจากการเปลี่ยนแปลงปัจจัยทั้งภายในและภายนอก ครอบคลุมความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงกิจกรรมทางธุรกิจหรือบริบทที่อาจส่งผลกระทบต่อการบรรลุเป้าหมายขององค์กร เช่น เสถียรภาพของสภาวะเศรษฐกิจการเมืองระหว่างประเทศ เป็นต้น
  2. การประเมินสถานการณ์จากการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินธุรกิจปกติที่อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและ/หรือลักษณะการปฏิบัติงานในปัจจุบัน และอาจส่งผลกระทบต่อเป้าหมายธุรกิจของบริษัทฯได้ โดยการระบุปัจจัยเสี่ยงสามารถดำเนินการได้จากแหล่งต่างๆ เช่น โดยบุคลากรในหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือผ่านการพิจารณาทบทวน ทวนสอบและข้อเสนอแนะจากคณะกรรมการและผู้บริหารเพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงตามขั้นตอนต่อไป

ภายใต้กรอบนโยบายการบริหารความเสี่ยงบริษัทฯ การระบุปัจจัยความเสี่ยงจะดำเนินการครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งด้านการเงินและไม่ใช่ทางการเงิน ด้านกลยุทธ์และการปฏิบัติการ ด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (ESG) รวมถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risk) ตามกลุ่มความเสี่ยงได้แก่

  • ความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ (Strategic Risk) คือความเสี่ยงที่เกิดจากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ส่งผลต่อวัตถุประสงค์ เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ หรือความเสี่ยงจากการเลือกใช้กลยุทธ์นั้นๆ ส่งผลให้การดำเนินการเชิงกลยุทธ์ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์เป้าหมายทางธุรกิจซึ่งกระทบต่อองค์กรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีสาเหตุจากทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายนอก โดยความเสี่ยงเหล่านี้หมายรวมถึงมิติด้านกลยุทธ์ การลงทุนและการขยายธุรกิจ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ กฎหมายและกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลง
  • ความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจ (Business Risk) คือความเสี่ยงที่เกิดจากการดำเนินธุรกิจโดยมีปัจจัยเสี่ยงมาจากความไม่แน่นอนต่างๆ อาทิ ราคาเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้น สภาพการแข่งขันทางธุรกิจ พฤติกรรมลูกค้า ราคาสินค้าและสภาพการแข่งขันทางธุรกิจ กฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ เป็นต้น
  • ความเสี่ยงทางด้านการเงิน (Financial Risk) คือความเสี่ยงที่จะทำให้การบริหารจัดการทางการเงินมีข้อจำกัดซึ่งอาจส่งผลต่อกลยุทธ์ทางธุรกิจในระยะยาว เช่น การขาดสภาพคล่อง เครดิต การบริหารเงินทุน หรือการจัดการสกุลเงิน เป็นต้น โดยความเสี่ยงทางด้านการเงินอาจมีสาเหตุจากโครงสร้างรายได้และเงินทุน ความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ สภาวะเศรษฐกิจ การจัดอันดับเครดิต แผนกลยุทธ์ทางธุรกิจและสถานการณ์ตลาดเงินตลาดทุนในช่วงเวลานั้นๆ
  • ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการ (Operational risk) คือเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อการปฏิบัติงานด้านต่างๆ เช่น เทคโนโลยีและการปฏิบัติการ ทรัพยากรบุคคล การผลิต การซ่อมแซมและบำรุงรักษาเครื่องจักรอุปกรณ์ ความผิดพลาดและความไม่มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน การปฏิบัติตามข้อกำหนดกฎหมายและความปลอดภัย การทุจริต สิทธิมนุษยชน เทคโนโลยีสารสนเทศและความปลอดภัยทางไซเบอร์ และห่วงโซ่อุปทาน การบริหารโครงการไม่เป็นไปตามกำหนดเวลา เป็นต้น
  • ความเสี่ยงด้านการลงทุนของผู้ถือหุ้น (Shareholder Investment Risk) คือความเสี่ยงที่จะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นเปลี่ยนแปลงในทางลบ หรือราคาตลาดของหุ้นหรืออัตราดอกเบี้ยลดลง โดยความเสี่ยงเหล่านี้ได้แก่ ความไม่แน่นอนในการลงทุนของผู้ถือหุ้น ความเสี่ยงด้านเครดิตและราคา เป็นต้น
3. การประเมินและวิเคราะห์ความเสี่ยง (Risk Assessment)

การประเมินและวิเคราะห์ความเสี่ยง บริษัทฯ จะดำเนินการในทุกมิติความเสี่ยงย่อยตามเกณ์การประเมินความเสี่ยง (Risk Criteria) ในมิติหลักได้แก่ ด้านการเงิน ด้านกระบวนการธุรกิจและการปฏิบัติการ ชื่อเสียงองค์กร ด้านลูกค้า ด้านบุคคล ซึ่งเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่ใช้ทั่วทั้งองค์กรทั้งการพิจารณาความเสี่ยงระดับองค์กร ความเสี่ยงระดับหน่วยงาน และความเสี่ยงการลงทุนพัฒนาโครงการ/ผลิตภัณฑ์ โดยมีเกณฑ์ในการประเมินความเสี่ยงที่เป็นมาตรฐานกลางขององค์กรดังนี้

  • เกณฑ์การประเมินผลกระทบของความเสี่ยง (Impact) แบ่งเป็นความรุนแรงแบ่งเป็น 4 ระดับ ได้แก่ระดับต่ำ ระดับปานกลาง ระดับสูง และระดับรุนแรง
  • เกณฑ์การประเมินโอกาสเกิด (Likelihood) ซึ่งแบ่งเป็น 4 ระดับ ตั้งแต่
    • โอกาสในการเกิดต่ำ (น้อยกว่าร้อยละ 10 หรือไม่เคยเกิดขึ้นหรือเคยเกิดขึ้น 1 ครั้งใน 5 ปี)
    • โอกาสในการเกิดปานกลาง (ระหว่างร้อยละ >10 ถึง < 20 หรือเคยเกิดขึ้น 1 ครั้งใน 3 ปี)
    • โอกาสในการเกิดสูง (ระหว่างร้อยละ >20 ถึง < 50 หรือเคยเกิดขึ้น 1 ครั้งใน 1 ปี)
    • โอกาสในการเกิดสูงมาก (รุนแรง) (มากกว่าร้อยละ 50 หรือเคยเกิดขึ้นมากกว่า 1 ครั้งใน 1 ปี)

โดยบริษัทฯ นำเสนอผลการประเมิน โดยใช้แผนภาพความเสี่ยง (Risk Matrix) เพื่อจัดลำดับความสำคัญของความเสี่ยง โดย

  • กลุ่มความเสี่ยงที่ได้รับการประเมินระดับรุนแรง (สีแดง) จะถูกจัดอยู่ในประเภทความเสี่ยงที่ต้องได้รับการบริหารจัดการดูแลอย่างเร่งด่วนในทันทีเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยต้องมีการติดตามการดำเนินงานและทบทวนอย่างน้อยทุกรายไตรมาส
  • กลุ่มความเสี่ยงที่ได้รับการประเมินอยู่ในระดับสูง (สีส้ม) จะถูกจัดอยู่ในประเภทความเสี่ยงที่ต้องมีการจัดการเชิงรุกและต้องได้รับการบริหารจัดการดูแลเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น โดยต้องมีการติดตามการดำเนินงานและทบทวนอย่างน้อยทุกรายไตรมาส
  • กลุ่มความเสี่ยงที่ได้รับการประเมินระดับปานกลาง (สีเหลือง) จะถูกจัดอยู่ในประเภทความเสี่ยงที่ยอมรับได้ โดยต้องมีการติดตามตรวจสอบเพื่อป้องกันการยกระดับผลกระทบขึ้น โดยต้องมีการติดตามทบทวนอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
  • กลุ่มความเสี่ยงที่ได้รับการประเมินระดับต่ำ (สีเขียว) จะถูกจัดอยู่ในประเภทความเสี่ยงที่ยอมรับได้ที่ไม่จำเป็นต้องมีมาตรการติดตามเพิ่มเติม โดยต้องมีการติดตามทบทวนอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
  • ทั้งนี้ มิติความเสี่ยงที่บริษัทฯ ได้วางกรอบไว้ประกอบด้วยความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ ความเสี่ยงจากการดำเนินธุรกิจ ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ และความเสี่ยงด้านการเงิน โดยระดับในการบริหารจัดการความเสี่ยง

บริษัทฯ ได้แบ่งระดับการบริหาร กำกับดูแลออกเป็น 2 ระดับได้แก่

  • ระดับองค์กร (Corporate Level): พิจารณาจากผลกระทบหรือความเสียหายที่มีนัยสำคัญ ซึ่งอาจส่งผลให้บริษัทฯ ไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ กลยุทธ์ และแผนธุรกิจขององค์กรตามที่กำหนดไว้ได้
  • ระดับหน่วยงาน (Functional Level): พิจารณาจากผลกระทบหรือความเสียหายที่อาจส่งผลให้หน่วยงานไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ตามหน้าที่ความรับผิดชอบได้

In 2022, GPSC has conducted risk assessment, analysis, and prioritization through the risk matrix. The results are interpretated based on likelihood, magnitude of the potential impacts. The mitigation actions are then identified to manage risk within GPSC risk appetite. Examples of GPSC key risks 2022 are presented in the table below:

4. การตอบสนองความเสี่ยง (Risk Response)

บริษัทฯ คำนึงการจัดการที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าความเสี่ยงอยู่ในระดับที่บริษัทฯ ยอมรับได้ โดยกำหนดให้มีการระบุกรอบเวลาในการดำเนินการจัดการความเสี่ยงเพื่อลดโอกาสและผลกระทบที่จะเกิดเหตุการณ์ความเสี่ยง ตลอดจนมีการกำหนดผู้รับผิดชอบการดำเนินการ (Risk Owner) เพื่อจัดทำแผนการจัดการความเสี่ยง (Mitigation Plan)

สำหรับความเสี่ยงระดับคงเหลือภายหลังการควบคุม (Residual Risk) ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง – รุนแรง จะต้องมีแสวงหาแนวทางตอบสนองต่อความเสี่ยง โดยคัดเลือกและกำหนดแผนบริหารจัดการ (Mitigation) เพื่อลดทอนระดับความรุนแรงของความเสี่ยงนั้นๆ ให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้

ทั้งนี้ สำหรับรูปแบบการตอบสนองต่อความเสี่ยง สามารถแบ่งออก 4 รูปแบบ ได้แก่

  1. การยอมรับ (Take/Accept/Pursue): ไม่มีการดำเนินการใดๆ เพิ่มเติม เนื่องจากความเสี่ยงที่เหลืออยู่ (Residual Risk) อยู่ในระดับต่ำที่ยอมรับได้ หรือต้องการยอมรับความเสี่ยงจากการดำเนินการใดๆ
  2. การลด (Treat/Reduce): การดำเนินการใดๆ เพิ่มเติม เพื่อลดโอกาสหรือผลกระทบความรุนแรงของความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้
  3. การแบ่งปัน (Transfer/Share): การโอนย้ายหรือกระจายความเสี่ยงบางส่วนไปยังบุคคล/หน่วยงานอื่น เพื่อลดทอนความรุนแรง
  4. การหลีกเลี่ยง (Terminate/Avoid): การดำเนินการเพื่อยกเลิกหรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยง

5. การอนุมัติรายการความเสี่ยง (Approval)

หลังจากมีการวิเคราะห์และจัดทำทะเบียนความเสี่ยงแล้ว การตรวจสอบความครบถ้วนสมบูรณ์ที่มีต่อ แผน/แนวทางบริหารจัดการและการพิจารณาอนุมัติการดำเนินงาน ตลอดจนการปิดความเสี่ยงเป็นขั้นตอนที่สำคัญต่อความสมบูรณ์ของกระบวนการบริหารจัดการดังกล่าว โดยบริษัทฯ แบ่งความเสี่ยงเป็น 2 ระดับได้แก่

  • ความเสี่ยงระดับองค์กร (Corporate Risk): จะมีการจัดทำโดยส่วนบริหารความเสี่ยงองค์กรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอเพื่อพิจารณาให้ความเห็นต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายใน (RMCC) และคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง(RMC) ก่อนนำเสนอขออนุมัติต่อคณะกรรมการบริษัทฯ ต่อไป
  • ความเสี่ยงระดับหน่วยงาน (Functional Risk): จะมีการจัดทำโดยหน่วยงานเจ้าของความเสี่ยงร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และนำเสนอขออนุมัติต่อผู้จัดการฝ่ายอาวุโสตามฝ่ายงานต่อไป

6. การติดตาม ทบทวน ประเมินและรายงานผลการบริหารความเสี่ยง (Monitoring, Review & Reporting)

ภายใต้นโยบายบริหารความเสี่ยงบริษัทฯ กฎบัตรคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง และแนวปฏิบัติตามคำสั่งแต่งตั้งและมอบหมายหน้าที่คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายใน (RMCC) บริษัทฯ จัดให้มีการดำเนินการการติดตาม ทบทวน ประเมินและรายงานผลการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าในทุกรายการความเสี่ยงจะยังคงสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ เหตุการณ์ และสภาพการดำเนินงานในปัจจุบันและอนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที โดยมีการดำเนินการ ดังนี้

  1. การติดตาม ทบทวนและรายงานรายการความเสี่ยง บริษัทฯ กำหนดให้มีผู้รับผิดชอบที่ชัดเจนในการติดตามทบทวน ทวนสอบ และรายงานรายการความเสี่ยง ดังนี้
    • กำหนดให้คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายใน (RMCC) ระดับจัดการ ดำเนินการติดตามประเด็นความเสี่ยงระดับหน่วยงานและระดับองค์กร ตลอดจนความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่อย่างต่อเนื่อง และนำผลการติดตามความเสี่ยงระดับองค์กรและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ที่มีนัยสำคัญต่อธุรกิจบริษัทฯ เสนอต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง (RMC) เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยงองค์รวม (Portforlio View of Risk)
    • บริษัทฯ กำหนดให้มีผู้แทนด้านการประเมินความเสี่ยงระดับหน่วยงาน (Risk Agent) เป็นศูนย์กลางของแต่ละกลุ่มงานในการระบุปัจจัยเสี่ยงและประเมินความเสี่ยงผ่านการใช้ทะเบียนความเสี่ยง (Risk Register) โดยส่วนบริหารความเสี่ยงจะนำผลการดำเนินงานมารายงานต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายใน (RMCC) ซึ่งเป็นระดับจัดการเพื่อติดตามความก้าวหน้าในการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง
  2. การวิเคราะห์ความอ่อนไหว (Sensitivity Analysis) และทดสอบภาวะวิกฤติ (Stress Test)

    บริษัทฯ ตระหนักถึงความท้าทายทางธุรกิจที่เกิดขึ้นทั้งที่เกิดขึ้นแล้วและอาจเกิดขึ้นในอนาคต การนี้จึงให้ความสำคัญต่อการบริหารความไม่แน่นอนและผลกระทบดังกล่าวโดยให้มีการวิเคราะห์ความอ่อนไหว (Sensitivity Analysis) และทดสอบภาวะวิกฤติ (Stress Test) เพื่อพยากรณ์ผลกระทบดังกล่าว ทั้งในช่วงเวลาการจัดทำแผนธุรกิจประจำปี เพื่อตอบโจทย์ภาพบริหารจัดการเชิงกลยุทธ์ประกอบกับการจัดทำทะเบียนความเสี่ยงองค์กรทั้งระยะสั้นและระยะปานกลาง ซึ่งจะสามารถสร้างความมั่นใจว่าบริษัทฯ จะสามารถเผชิญเหตุการณ์กรณีเลวร้ายและมีแนวทางลดผลกระทบที่ชัดเจน และทั้งในช่วงระหว่างปีทีบริษัทฯ ยังคงจัดให้มีการทวนสอบการวิเคราะห์และประเมินผลดังกล่าวหากมีสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปหรือเกิดสถานการณ์ใหม่ขึ้นตลอดการดำเนินงาน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือต่อผลกระทบและแสวงหาแผนการบรรเทาหรือโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงที่อาจมีต่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ ประสิทธิภาพ และทิศทางเชิงกลยุทธ์ โดยการดำเนินการจะถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการติดตามและทบทวนการประเมินความเสี่ยงที่ดำเนินการอยู่เป็นรายไตรมาสหรือในกรณีเกิดเหตุการณ์เกิดใหม่ (Emerging Issues) อาทิ สถานการณ์ราคาพลังงานที่ผันผวนและนโยบายการตรึงค่า Ft ซึ่งทำให้โครงสร้างต้นทุนและรายได้ไม่สอดคล้องกันย่อมส่งผลปัจจัยด้านการเงินและผลประกอบการ สถานการณ์ด้านภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ที่มีการขัดแย้งในวงกว้างผนวกกับปัจจัยด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ตลาดเงิน ตลาดทุนในระดับสากล ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบด้านการเงินและผลประกอบการแล้ว ยังส่งผลต่อพันธกิจเป้าหมายการเติบโต การขยายการลงทุนตามแผนกลยุทธ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยหนึ่งในเครื่องมือที่บริษัทฯ นำมาใช้ในการประเมินความรุนแรงของผลกระทบเพื่อวางแผนการป้องกันแก้ไขที่สอดคล้องกับระดับความเสี่ยงคือการวิเคราะห์ความอ่อนไหว (Sensitivity Analysis) และทดสอบภาวะวิกฤติ (Stress Test)

    บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการทบทวนและการปรับแผนการบริหารจัดการความเสี่ยงที่สอดคล้องกับสถานการณ์อยู่เป็นประจำ โดยมีเป้าหมายในการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างบูรณาการเพื่อให้ความเสี่ยงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ โดยนอกจากประเด็นความเสี่ยงระดับองค์กรที่ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทฯ แล้วนั้น หากในระหว่างปีพบว่ามีประเด็นความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทฯ อย่างมีนัยสำคัญ ฝ่ายจัดการโดยส่วนบริหารความเสี่ยงองค์กรร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะดำเนินการวิเคราะห์จัดทำข้อมูลประกอบการนำเสนอเพื่อพิจารณาให้ความเห็นต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงและควบคุมภายใน (RMCC) ก่อนนำเสนอขออนุมัติต่อคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง (RMC) เพื่อบรรจุเป็นหนึ่งในรายการความเสี่ยงระดับองค์กรเพิ่มเติมที่ต้องดำเนินการบริหารจัดการอย่างใกล้ชิดร่วมกันต่อไป

7. การสื่อสาร (Communication)

บริษัทฯ ให้ความสำคัญต่อการสื่อสารประเด็นด้านความเสี่ยงแก่ผู้บริหารพนักงานและผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมต่อการเฝ้าระวังและผลักดันการป้องกัน/แก้ไขปัญหาที่เกิดและอาจเกิดขึ้น ตามแนวปฏิบัติซึ่งผู้บริหารให้ความสำคัญและผลักดันเสมอมา (Tone at the top) ผ่านรูปแบบการประชุมกลุ่มใหญ่และกลุ่มย่อยในแต่ละกลุ่มงาน การประชาสัมพันธ์ข้อมูลด้านความเสี่ยงผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนการสอดแทรกในเนื้อหาการอบรมภายในองค์กรซึ่งการดำเนินการทั้งหมดล้วนสอดคล้องกับแนวทางการสร้างวัฒนธรรมการบริหารความเสี่ยงที่บริษัทฯ ได้ผลักดัน นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังให้ความสำคัญต่อการสร้างความเข้าใจในการสื่อสารข้อมูลความเสี่ยงสำคัญของบริษัทฯ ต่อผู้มีส่วนได้เสียภายนอกอย่างถูกต้องและทันเวลาในสถานการณ์ต่างๆ

โดยภาพรวมการบริหารความเสี่ยงและความเชื่อมโยงการบริหารความเสี่ยงบริษัทฯ สามารถแสดงดังแผนภาพ

8. Risk Audit

เพื่อสร้างความมั่นใจในระบบการบริหารความเสี่ยงซึ่งเป็นหนึ่งในระบบที่ช่วยสนับสนุนความสำเร็จตามพันธกิจและเป้าหมายการดำเนินธุรกิจขององค์กร การตรวจสอบประสิทธิภาพและการดำเนินการของระบบตามแนวทางสากลจึงเป็นสิ่งที่บริษัทฯคำนึงและให้ความสำคัญโดยแนวทางการตรวจสอบระบบบริหารความเสี่ยงที่บริษัทฯใช้อยู่ในปัจจุบันได้แก่

  • การตรวจสอบโดยหน่วยงานภายในองค์กร (Internal Audit)
    • โดยคณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทฯ (Audit Committee: AC) ซึ่งจะทำหน้าที่ภายใต้กฎบัตรคณะกรรมการตรวจสอบในการสอบทานให้บริษัทฯ มีระบบบริหารความเสี่ยงและระบบการควบคุมภายในที่เหมาะสมและมีประสิทธิผล โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบกำกับดูแลและบริหารภาพรวมระบบบริหารความเสี่ยงบริษัทฯ จะนำเสนอกรอบและแนวทางการบริหารความเสี่ยงประจำปีเพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง
  • การตรวจสอบโดยหน่วยงานภายนอกองค์กร (External Audit) เป็นการดำเนินการโดยผู้ตรวจสอบภายนอกองค์กรเพื่อการรับรองมาตรฐานตามหลักสากลและแนวปฏิบัติในทุกปีเช่น การขอรับรองมาตรฐานระบบบริหารงานคุณภาพ (ISO 9001: 2015) มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001: 2015) มาตรฐานระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (ISO 45001: 2018) ระบบการจัดการแบบบูรณาการ (IMS) R-100 Rev.4 ระบบมาตรฐานการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (ISO 22301: 2019) ระบบมาตรฐานการจัดการความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ (ISO 27001: 2013) เป็นต้น ซึ่งมิติการบริหารความเสี่ยงเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในการพิจารณารับรองตั้งแต่การพิจารณากลยุทธ์องค์กรจนสู่การปฏิบัติและประสิทธิภาพการดำเนินงานตลอดจนความพร้อมสนองตอบต่อความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risk) ซึ่งบริษัทฯ ได้รับการรับรองในทุกพื้นที่
    • จากบมจ.ปตท ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทฯและเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยจัดให้มีการสอบทานความสอดคล้องระบบการบริหารความเสี่ยงโดยรวมของบริษัทฯ ตามแนวทางการกำกับดูแลบริษัทในกลุ่มปตท. (PTT Group Way of Conduct) ตั้งแต่ด้านนโยบายบริหารความเสี่ยง การกำกับดูแลไปจนถึงการนำไปปฏิบัติ เป็นประจำทุกปีตามหลักการ Enterprise Risk Management: Integrating with Strategy and Performance (COSO ERM 2017) โดย Committee of Sponsoring of the Treadway Commission (COSO) ซึ่งเป็นหลักการสากล รวมถึงหลักการและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการสำหรับรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2562 โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.)

สหสัมพันธ์ของความเสี่ยง

ประเด็นด้านความเสี่ยงที่จัดอยู่ในกลุ่มที่ส่งผลกระทบมากที่สุดต่อการดำเนินของบริษัทฯ คือ ประสิทธิภาพของการลงทุน ศักยภาพขององค์กร การปฏิบัติตามกฎระเบียบ ความมั่นคงของโรงไฟฟ้า และการดำเนินโครงการ ความสัมพันธ์กันของความเสี่ยงมีนัยสำคัญต่อการบริหารจัดการความเสี่ยงของบริษัทฯ เนื่องจากความสัมพันธ์กันของความเสี่ยงจะก่อให้เกิดผลกระทบแบบลูกโซ่ ซึ่งอาจทำให้ระดับของความเสี่ยงสูงขึ้นหรือลดลงตามความสัมพันธ์ของกันและกัน

ผังการวิเคราะห์สหสัมพันธ์ความเสี่ยงประจำปี

ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ (Emerging Risk)

บริษัทฯ รับรู้และตระหนักถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ ทั้งในระยะสั้น ระยะปานกลาง และระยะยาวซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบริษัทฯ ทั้งด้านความเสี่ยงและโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากการบริหารความเสี่ยงนั้นๆ เหตุนี้บริษัทฯ จึงได้ระบุความเสี่ยงใหม่ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อกลยุทธ์และเป้าหมายทางธุรกิจของบริษัทฯ ในการก่อเกิดความสูญเสียโอกาสหากไม่ได้รับการบริหารจัดการอย่างเหมาะสม ดังนั้นบริษัทฯ จึงได้มีการประเมินมิติความเสี่ยงที่เกิดขึ้นใหม่ วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งกำหนดแนวทางดำเนินการบรรเทาผลกระทบเพื่อจัดการความเสี่ยงเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพ

ความเสี่ยงใหม่ที่เกิดขึ้น ระดับความเสี่ยง กรอบ เวลา คำอธิบายของความเสี่ยง ผลกระทบทางธุรกิจที่อาจเกิดขึ้นจากความเสี่ยง แนวทางการบรรเทา
1. ความเสี่ยงจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์และภาวะสงคราม (Economic Recession, Geopolitical and War Risk) สูง พ.ศ. 2568 สถานการณ์ความขัดแย้งทางสงครามและการเมือง การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ความผันผวนในตลาดเงินตลาดทุนและภาคการผลิตการบริโภคจากสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนไหว ส่งผลให้เกิดข้อจำกัด เงื่อนไขทางธุรกิจการดำเนินงานและผลประกอบการของบริษัทฯและกลุ่มบริษัท GPSC
  • ผลกระทบจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาเชื้อเพลิงพลังงาน ส่งผลให้บริษัทฯ ได้รับผลกระทบต่อผลประกอบการที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายแผนงาน
  • ผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ กฎระเบียบทางการค้าส่งผลต่ออุปสงค์ที่มีต่อลูกค้าอุตสาหกรรมที่ลดลง เป็นผลให้ปริมาณความต้องการผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ลดลงเช่นกัน
  • ผลกระทบจากการบริหารนโยบายการเงินการคลังภายใต้สภาวะการควบคุมอัตราเงินเฟ้อ และการตรึงตัวของสภาวะเศรษฐกิจในระดับนานาชาติ ส่งผลต่อต้นทุนทางการเงินและค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ
  • ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ โดยเป็นความขัดแย้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานภายใต้กลยุทธ์การขยายการเติบโตของบริษัทฯ
  • บริหารผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อผลประกอบการผ่านสูตรราคาเชื้อเพลิงที่ใช้อ้างอิงในการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าตามสัญญาจำหน่ายไฟฟ้า อีกทั้งดำเนินการการบูรณาการการผลิตและการส่งจำหน่าย (Plant Optimization) ตลอดจน การปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและจำหน่ายและมีการประสานงานกับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง
  • ประสานความร่วมมือระหว่างลูกค้า/คู่ค้าเพื่อรักษาความมั่นคงด้านการผลิตและจัดส่งไฟฟ้า
  • บริหารจัดการและดำเนินการบริหารความเสี่ยงผ่านคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงด้านราคาวัตถุดิบผลิตภัณฑ์ และด้านการเงิน (Hedging Committee) ตลอดจนมีการติดตามสถานการณ์อัตราดอกเบี้ยและต้นทุนทางการเงินเพื่อหาเครื่องมือทางด้านการเงินที่เหมาะสม
  • บริหารความเสี่ยงและผลกระทบที่เกิดขึ้นตั้งแต่การพิจารณาคัดเลือกโครงการลงทุน ซึ่งจะมีการประเมินผลที่อาจเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ตลอดจนการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจในพื้นที่ การศึกษาและติดตามสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในเชิงลึกผ่านการมีบุคลากรของบริษัทฯ ในพื้นที่และการพิจารณา Exit Strategy ในสถานการณ์ที่เหมาะสม
2. ความเสี่ยงจากนโยบายบริหารจัดการราคาพลังงาน (Power and Energy Interfere Risk) สูง พ.ศ. 2567

นโยบายรัฐบาลด้านการตรึงราคาไฟฟ้าเพื่อบรรเทาภาระการดำรงชีพของภาคการบริโภค เป็นเหตุผู้ผลิตไฟฟ้าและบริษัทฯ ได้รับผลกระทบต่อผลประกอบการจากความไม่สอดคล้องของราคาเชื้อเพลิงพลังงานและราคาค่าไฟฟ้า

  • ผลกระทบจากการตรึงราคาไฟฟ้าตามนโยบายของภาครัฐที่มิได้สะท้อนสภาพต้นทุนที่แท้จริงส่งผลให้บริษัทฯ ได้รับผลกระทบต่อผลประกอบการที่ไม่เป็นไปตามเป้าหมายแผนงาน
  • แสวงหาแนวทางที่จะลดค่าใช้จ่ายที่มาจากต้นทุนการผลิตในภาพรวม ควบคู่กับการรักษาและปรับปรุงประสิทธิภาพและเสถียรภาพการผลิตอย่างเหมาะสม
  • การบูรณาการการผลิตและการส่งจำหน่ายในภาพรวม (Plant Optimization)
3. ความเสี่ยงจากกฎระเบียบการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Climate Regulation and Climate Action Risk) ปานกลาง พ.ศ. 2573 จากการที่นานาชาติรวมถึงประเทศไทยแสดงเจตจำนงแก้ปัญหาการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยประเทศไทยกำหนดการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 40 ภายในปี 2573 จึงเป็นเงื่อนไขที่ส่งผลต่อการดำเนินการผลิตและธุรกิจปัจจุบันของบริษัทฯ ที่จะต้องแสวงหาแนวทางลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเป้าหมายภายใต้การบริหารจัดการการผลิตจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีเสถียรภาพและยังจำเป็นต่อการผลิตไฟฟ้าไอน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้งานของภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการบริหารการเงินและต้นทุนทางการเงินจากนโยบายที่สนับสนุนการลงทุนในธุรกิจที่มาจากเชื้อเพลิงสะอาด ควบคู่กับการรักษาผลประกอบการเพื่อสนองตอบต่อผู้ถือหุ้นและผู้มีส่วนได้เสีย
  • มาตรการกีดกันการค้าทางภาษีและค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มในผลิตภัณฑ์ที่มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สูงกว่าค่าที่กำหนด ทั้งในส่วนของลูกค้า ซึ่งส่งผลทำให้อาจเกิดการลดปริมาณการรับซื้อผลิตภัณฑ์ และบริษัทฯ ที่ได้รับผลจากการที่ต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น
  • เร่งการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การใช้เชื้อเพลิงพลังงาน การขยายการลงทุนพลังงานทดแทน การพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ในการจัดหาพลังงานสะอาดและใบรับรองการปลดปล่อยพลังงานสะอาด
  • ศึกษาพัฒนาเทคโนโลยีการใช้พลังงานรูปแบบใหม่ที่มีการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ
  • ศึกษาการนำเทคโนโลยีในการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
4.ความเสี่ยงจากการบริหารการผลิตและการเชื่อมโยงระบบส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้า (Power and Steam Production and Synchronization Risk) สูง พ.ศ. 2571 ปัจจุบัน กฟผ. อยู่ระหว่างปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดระยองและภาคตะวันออกเพื่อแก้ปัญหากําลังไฟฟ้าลัดวงจร (Fault Level) ที่สูงกว่าค่ากำหนด ส่งผลให้ให้เครื่องกำเนิดไฟฟ้าทุกเครื่องของบริษัทฯ ที่เกิดขึ้นใหม่และที่หมดสัญญาผลิตจำหน่ายไฟฟ้าแก่ กฟผ. (SPP Replacement) ไม่ได้รับอนุญาตให้เชื่อมโยงกับระบบส่งไฟฟ้าของ กฟผ.
  • บริษัทฯ มีข้อจำกัดด้านการบริหารการผลิตและการเดินเครื่องในบางช่วงเวลา
  • ต้นทุนการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพิ่มสูงขึ้นในขณะที่รายได้คงเดิมตามสัญญาขายผลิตภัณฑ์
  • วิเคราะห์และประสานการศึกษาทางเทคนิคร่วมกับ กฟผ. ในการแก้ปัญหาการเชื่อมโยง
  • บริหารการซ่อมบำรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและจัดจำหน่ายและลดช่วงเวลาการหยุดเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
  • บริหารการเดินเครื่องและการหยุดซ่อมบำรุงควบคู่กับการวางแผนรับซื้อพลังงานร่วมกับลูกค้า
  • บริหารประสิทธิภาพการผลิต (Plant Optimization) เพื่อบริหารการผลิตภาพรวม
  • วางแผนร่วมกับ กฟผ. ในการจัดหาไฟฟ้าส่วนเพิ่มในช่วงเวลาซ่อมบำรุงเครื่องกำเนิดไฟฟ้า
5. การเปลี่ยนแปลงนวัตรกรรมเทคโนโลยี (Disruptive Technology Risk) สูง พ.ศ. 2570 ด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการบริโภคพลังงานของลูกค้าและผู้บริโภค การเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน (Energy Transition) ที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainability) และผลกระทบจากกฎหมายกฎระเบียบด้านการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทำให้บริษัทฯ เผชิญต่อความเปลี่ยนแปลงรูปแบบในการดำเนินธุรกิจอย่างไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของบริษัทฯ กับคู่แข่งรายอื่นๆ ในตลาดพลังงาน
  • ลดความสามารถในการแข่งขันหากบริษัทฯ ไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้
  • สูญเสียชื่อเสียงของบริษัทฯ ความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้เสีย
  • สูญเสียโอกาสทางธุรกิจ ส่วนแบ่งการตลาด และรายได้
  • เข้าลงทุนพัฒนาธุรกิจรูปแบบใหม่ (New S-Curve)เพื่อรองรับต่อการขยายธุรกิจในระยะยาวทั้งด้านธุรกิจแบตเตอรี่ การกักเก็บพลังงานและธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ
  • พัฒนารูปแบบการบูรณาการการบริหารจัดการการใช้พลังงาน (Energy Management System: EMS) เพื่อตอบสนองต่อรูปแบบการบริหารประสิทธิภาพการใช้พลังงานทั้งในลักษณะ Micro Grid / Smart Grid และสามารถบูรณาการกับธุรกิจในปัจจุบันของบริษัทฯ ได้
  • วางแผนปรับตัวเพื่อรองรับต่อตลาดการซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบใหม่ (Energy Trade)และพัฒนาแพลตฟอร์มการค้าพลังงานใหม่อย่างต่อเนื่องเพื่อรับมือกับพฤติกรรมใหม่ของผู้ใช้พร้อมลดผลกระทบต่อการดำเนินการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าในปัจจุบันและอนาคตอย่างต่อเนื่อง
  • ศึกษาและพัฒนาเทคโนโลยีด้านการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture Utilization and Storage: CCUS) และธุรกิจรูปแบบใหม่ เช่น ไฮโดรเจน SMR เพื่อเตรียมความพร้อมปรับตัวที่จะรองรับต่อข้อจำกัด/อุปสรรคการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งยังสามารถสร้างเป็นโอกาสการดำเนินธุรกิจทางเลือกใหม่ของบริษัทฯ ในอนาคตเพื่อการเติบโตในระยะยาว
ปรับปรุง ณ เดือน กุมภาพันธ์ ปี 2567

เนื้อหาข้างต้นจัดทำตามมาตรฐานการรายงานความยั่งยืน โดย The Global Reporting Initiative (GRI Standards) ได้รับการตรวจสอบความถูกต้องโดยหน่วยงานภายนอกและให้ความเชื่อมั่นข้อมูลการรายงานในระดับจำกัด (Limited Assurance)